เดินหน้าปฏิรูปการแพทย์แผนไทยเพื่อเศรษฐกิจและประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู้สังคมสูงวัย ประชาชนมีแนวโน้มเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้นและโรงพยาบาลของรัฐยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาล ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขให้มีการนำการแพทย์แผนไทยกลับมาใช้อย่างจริงจังคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคง เข้มแข็ง คุณภาพและประสิทธิภาพของระบบการแพทย์และสาธารณสุขในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองและชุมชนด้วยการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นหรือภายในประเทศเป็นหลัก สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สามารถทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง ประเทศมีความมั่นคงทางยา สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกสมุนไพรเสริมสร้างเศรษฐกิจของชาติ

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาการแพทย์แผนไทยจะได้รับการตอบรับในหมู่ประชาชนเป็นไปอย่างดีและมีแนวโน้มจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันแพทย์แผนไทยที่นำมาใช้ในทางเศรษฐกิจมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือการนวดไทย ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย โดยการนวดไทยนำมาใช้ทั้งด้านบำบัดรักษาและนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสปาและสถานประกอบการต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้นำมาใช้ใน 3 ส่วน คือ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสมุนไพรโดยรวมทั้งหมดเกือบ 2 แสนล้านต่อปี แต่การพัฒนาทางการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยยังมีปัญหาอุปสรรคและมีข้อจำกัดในเชิงรูปธรรมอยู่มากมาย ไม่ว่าการขาดแคลนบุคคลากร ขาดแคลนวัตถุดิบ ประชาชนหรือผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์สมุนไพรถึงแม้จะมีเขียนไว้ในตำราดั้งเดิม แต่การนำมาใช้ในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องผ่านการพิสูจน์ด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ประเด็นถัดมาคือ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังไม่ได้ผ่านกระบวนการมาตรฐานอย่างเป็นระบบ จึงต้องเร่งพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้การปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจจึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

Advertisement

นพ.ปราโมทย์ยังกล่าวต่อไปว่า ตามแนวทางงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ต้องการให้นำสมุนไพรไทยมาสร้างเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงงานด้านสมุนไพรและแพทย์แผนไทยให้เดินหน้าแบบก้าวกระโดด โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายการปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่งคั่งจากการนวดไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมีความมั่นคงในระบบบริการสุขภาพและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

โดยกำหนดให้การปฏิรูปการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจดำเนินการภายใต้ 3 แผนงาน/โครงการ คือ (1) การพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจ โดยพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพร จัดตั้งตลาดกลางวัตถุดิบ สารสกัดสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและศูนย์ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการสมุนไพรครบวงจร พัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัด สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของสมุนไพรไทย รวมถึงการปฏิรูปด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสมุนไพรให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และพัฒนาให้มีระบบ Big Data ด้านสมุนไพรที่สามารถใช้เพื่อการวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการและสร้างความรู้ ความเชื่อมั่นของผู้ใช้สมุนไพรระบบเชื่อมโยงข้อมูลทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ส่งต่อไปยังต่างประเทศได้ (2) พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทย โดยพัฒนารูปแบบบริการด้านการแพทย์แผนไทยและติดตั้งบริการร่วมกับสหวิชาชีพในระบบบริการปฐมภูมิ และ คลินิกหมอครอบครัว จัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย พัฒนามาตรฐานนวดไทยในระดับสากลเพื่อรองรับการประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของ UNESCO และ (3) การศึกษาการแพทย์แผนไทย โดยพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต และเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพแพทย์แผนไทย พัฒนาตาราอ้างอิงมาตรฐานด้านการแพทย์แผนไทย พัฒนาแหล่งฝึกภาคปฏิบัติของแพทย์แผนไทย และแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา

Advertisement

“ทั้งนี้การเดินหน้างานปฏิรูปด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังเช่นในระดับภาคอุตสาหกรรมทั้งเกษตรกร เจ้าของภูมิปัญญา ต้องได้รับประโยชน์จากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนได้ หรือด้านระบบบริการ การนำสมุนไพรมาใช้จะช่วยทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และด้านระบบการศึกษาทำให้แพทย์แผนไทยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีศักยภาพสูงขึ้น สามารถรองรับความต้องการของผู้ให้และผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต” นพ.ปราโมทย์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image