สศก. จับมือ สรท. ศึกษาระบบโซ่ความเย็น วางแนวทางพัฒนาระบบจัดเก็บ คงคุณภาพสินค้าเกษตรสู่ปลายทาง

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 สศก. ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ศึกษารูปแบบการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโซ่ความเย็น (Cold Chain) ในสินค้าพืชผักและผลไม้ (อาทิ เงาะ ทุเรียน มังคุด ขนุน กะเพรา แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง และ เห็ด) ของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และพื้นที่ใกล้เคียง รวม 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด โดยระบบการบริหารจัดการโซ่ความเย็น (Cold Chain) ในสินค้าเกษตร เป็นระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยว การขนส่งการเก็บรักษา การกระจายสินค้า และการขายของสินค้า รวมถึงการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ และการปฏิบัติเพื่อให้สินค้าคงความสดและมีคุณภาพให้ยาวนานที่สุด โดยมีเงื่อนไขที่สภาพของอุณหภูมิที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อการเก็บรักษาในแต่ละกระบวนการผลิต

 

จากการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการโซ่ความเย็นที่มีประสิทธิภาพเริ่มจากการจัดการผลผลิตของเกษตรกร และจัดส่งมายังสถาบันเกษตรกร เพื่อจัดการส่งต่อไปยังตลาดปลายทาง สามารถรักษาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดการโซ่ความเย็นในสินค้าทุเรียน ของสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้เพื่อกระจายสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนจำนวนกว่า 29 ล้านบาท และสหกรณ์สบทบเพิ่มอีก 12 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารห้องเย็น พร้อมอุปกรณ์แปรรูปผลไม้ มีกระบวนการคัดแยกผลผลิตเกรด A และ B จะจำหน่ายเป็นผลสด ซึ่ง 90% ส่งไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ที่เหลือ 10% จำหน่ายตลาดในประเทศ ได้แก่ แมคโครและเดอะมอลล์ ในขณะที่ทุเรียนตกเกรด มีกระบวนการจัดเก็บก่อนเข้าสู่กระบวนการแกะเปลือกในห้องเย็น แบ่งเป็น 4 เกรด ได้แก่ A B เนื้อดิบ และเนื้อเละ โดยเนื้อเกรด A  B จะถูกนำไปแช่แข็งที่อุณหภูมิ -35 ถึง -70 องศาเซลเซียส เก็บได้ประมาณ 1 ปี ปัจจุบันมี 250 ตันเนื้อ ซึ่งห้องเย็นสามารถรองรับได้สูงสุด 300 ตันเนื้อ หลังจากนั้นจะถูกส่งไปยังห้องเย็นของบริษัทในกรุงเทพต่อไป สำหรับเนื้อเละ จะนำไปกวนด้วยเครื่องกวน แล้วนำไปบรรจุถุงจำหน่ายให้บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด

Advertisement

นางสาวทัศนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์ที่ได้รับงบประมาณจัดสร้างห้องเย็น ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกนำผลผลิตมาขายให้กับสหกรณ์ ส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยมา จากปีที่แล้วกิโลกรัมละ 45 – 60 บาท ปีนี้เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 60 – 70 บาท แสดงให้เห็นว่าการที่สหกรณ์เป็นตัวกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรนั้น ส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี และยังช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณที่จะต้องนำไปใช้แทรกแซงราคาผลไม้ให้กับเกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สศก.จะใช้ข้อมูลการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้มาวิเคราะห์เชิงลึกในภาพรวมของระบบการจัดการโซ่ความเย็นของสถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อการบริหารจัดการโซ่ความเย็นในสินค้าพืชผักและผลไม้ของสถาบันเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ด้านการเกษตร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 3757 ในวันและเวลาราชการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image