หลากมุมมองยุคใหม่ ′มติชน′ อีกหนึ่งก้าวมั่นคง สู่ปีที่ 39

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 39 แล้ว สำหรับเครือ มติชน บริษัทผู้ผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์หลายประเภท

วันที่ 9 มกราคมของทุกปี นับเป็นวันครบรอบการก่อตั้ง

หากนับเป็นอายุคนก็ถือว่าเข้าสู่วัยกลางคนเต็มตัว ผ่านร้อนหนาวมากพอจะยืนได้อย่างแกร่งกล้าในวันที่พายุยังโหมกระหน่ำ

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แวดวงสื่อต้องตั้งตัวยืนให้มั่นคงกว่าเดิมเพราะกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่บังคับให้ผู้เล่นในสนามต้องปรับตัวให้ทันโลก

Advertisement

เมื่อผู้อ่านเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม“มติชน”ก็ต้องก้าวเดินไปพร้อมผู้อ่านเพราะหากไม่ทันต่อสถานการณ์แล้ว สื่อคงไม่สามารถสะท้อนความจริงได้อย่างทันท่วงที

ในขวบปีที่ 39 นี้ จึงได้รวบรวมเอาความเห็นของ

ผู้อ่านที่ติดตามกันมาอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

มองกันอย่างไร และอยากเห็นก้าวต่อไปในภาพไหน

และนี่คือความเห็นของคนที่ก้าวไปพร้อมๆ กันกับมติชน

14522226141452222633l
อาทิตย์ ศรีจันทร์, ยอดพล เทพสิทธา, ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น, สุชาติ สวัสดิ์ศรี

เป็นนักอ่านตัวยงอีกคนสำหรับนักวิชาการด้านวรรณกรรมและอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครอย่าง อาทิตย์ ศรีจันทร์ ที่คุ้นเคยกับมติชนด้วยว่ามาร่วมกิจกรรมกันหลายคราและเป็นนักวิชาการอีกหนึ่งคนที่มีความเห็นต่อประเด็นต่างๆอย่างสม่ำเสมอ

“ผมเริ่มอ่านเครือมติชนมาตั้งแต่เรียนคงสักปี2545-46” ท้ายประโยคกลั้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“ที่ตัดสินใจอ่านมติชนเพราะตอนนั้นผมอ่านศิลปวัฒนธรรม เพราะต้องเอาข้อมูลพวกนี้ไปทำรายงาน เลยได้เริ่มอ่านตั้งแต่นั้น จากนั้นจึงตามอ่านมาเรื่อยๆ อ่านมติชนสุดสัปดาห์ แล้วก็อ่านหนังสือเล่มของสำนักพิมพ์มติชนด้วย”

และก็อาจเพราะติดตามงานในเครือมติชนมายาวนาน มากน้อย อาทิตย์ย่อมเห็นจุดบอบบางในวงการนี้

“ตลาดแม็กกาซีนปีที่ผ่านมาปิดตัวไปเยอะมาก อย่างนิตยสารในเครือศิลปวัฒนธรรมก็หาวิธีในการเอาตัวรอดค่อนข้างเหนื่อยหน่อย ผมเข้าใจนะ” เขาว่า “ตอนนี้นิตยสารหลายหัวปิดตัวไป ผมเองก็หดหู่กับเรื่องนี้ ผมหวังว่าศิลปวัฒนธรรมจะยังอยู่นะครับ อยากให้อยู่”

ส่วนคำถามที่ว่าจะอยู่อย่างไร อาทิตย์มองว่าต้องมีการขยับขยายไปสู่สื่ออื่นที่เข้าถึงผู้อ่านปัจจุบันได้

ขณะที่ ยอดพล เทพสิทธา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ให้ความเห็นต่อประเด็นต่างๆ ในหนังสือพิมพ์มติชนอย่างสม่ำเสมอก็กล่าวว่า ตามอ่านสื่อในเครือมติชนเป็นประจำเช่นกัน โดยเฉพาะมติชนสุดสัปดาห์

“ส่วนตัวอยากให้เพิ่มหรือให้น้ำหนักความสมดุลของความเห็นของบางฝ่ายบ้างในแต่ละประเด็นเช่นเศรษฐกิจการเมือง ถ้าเราสามารถนำเสนอความเห็นของคนอีกฝั่งได้ ก็จะให้ภาพที่กว้างขึ้นกับคนอ่าน เพราะที่ผ่านมามักเอียงมาทางวิจารณ์รัฐบาล ถ้ามีความเห็นของคนที่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลมา ก็จะดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น” อาจารย์นิติศาสตร์แนะนำ ก่อนจะเสนอต่อว่า จุดอ่อนบางประการต่อมาคือความแม่นยำในเรื่องข้อมูลที่อาจจะขาดหายไปบ้างในสื่อออนไลน์อันเนื่องมาจากความรวดเร็ว

“ที่ยังอ่านมติชนอยู่เพราะผมไม่สามารถหาเนื้อหาแบบนี้อ่านได้ในสื่อออนไลน์ทั้งความละเอียดความลึกของเนื้อหา การวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งพวกนี้เป็นจุดเด่นของสื่อสิ่งพิมพ์ ผมชอบอะไรแบบนี้” ยอดพลกล่าวปิดท้าย

ขณะที่ ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักวิชาการอิสระให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ยังคงอ่านหนังสือพิมพ์มติชนอยู่ตามโอกาสอำนวยนับตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี

“เป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้เป็นหัวสีผมเลยอ่านซื้อบ้างไม่ซื้อบ้างก็แล้วแต่โอกาสแต่อย่างมติชนออนไลน์ผมอ่านตลอด ส่วนมติชนสุดสัปดาห์ผมมาหยุดซื้อตอนปี 2553 เพราะตอนนั้นต้องไปเรียนต่างประเทศ ตอนนี้ก็กลับมาอ่านเหมือนเดิมแล้วครับ

“พูดจริงๆ มติชนโอเค เป็นสื่อที่หลากหลาย ยังติดตาม เพราะคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้แล้ว”

กับความคาดหวัง ภาคิไนย์นึกอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า เขาอยากให้มติชนมีลักษณะของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศมากกว่านี้ เช่น เดอะนิวยอร์กไทม์ส

“ผมอยากให้มีบทวิเคราะห์หนักๆ ดีๆ ในหนังสือพิมพ์ แต่เข้าใจว่าคนจะอ่านยากอยู่เหมือนกันแล้วเขาจะไม่ซื้อ เข้าใจได้ครับ” ภาคิไนย์กล่าว

ด้าน บก.เครางาม รุ่นใหญ่ในวงการหนังสือก็ได้ให้ความเห็นไว้

“หนังสือพิมพ์มติชนเป็นสื่อที่มีความชัดเจนเรื่องข่าว”เป็นความเห็นของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปี 2554

“ส่วนทางด้านหนังสือเล่ม นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก็ยังน่าสนใจในแง่ข้อมูล ความรู้ หรือมติชนออนไลน์ก็รวดเร็วดี

“ประเด็นคือผมคิดว่ามติชนมีความหลากหลาย มีสองข้าง มีความชัดเจนทางหลักการ”

หากจะมีอะไรสักอย่างที่แนะนำ สิงห์สนามหลวงหัวเราะปนมากับคำตอบนั้น “เอาตัวให้รอดแล้วกัน จะปรับอะไรก็เอาให้รอด เข้าใจว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มว่าจะต้องเหนื่อยหนักหน่อย ไม่ว่าจะมติชนหรือสื่ออื่นๆ

“รักษาเอกลักษณ์ไว้ อย่างน้อยก็เรื่องสัจจะ เรื่องความจริง ความงามอยู่ตรงกลาง ความดีไว้ว่ากันหลังสุด เพราะปกติเขาให้ความดีก่อน แต่ผมว่าคนทำสื่อ คนทำศิลปะ ความจริงต้องมาก่อน สื่อต้องคำนึงถึงตรงนี้ แสวงหาสัจจะไว้นะครับ” เป็นคำตอบพร้อมรอยยิ้มจากคนหนังสือ

14522226141452222638l
เอกชัย ไชยนุวัติ, ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์, สุริชัย หวันแก้ว, ฐิติพล ภักดีวานิช

ถัดมา นับว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่ถือว่าเป็นนักอ่านหนังสือพิมพ์ มติชน ตัวยง

เอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือพิมพ์มติชนมาได้ 9 ปี ย่าง 10 ปี ว่า

“จุดเริ่มต้นของการอ่านมติชนและติดตามมาโดยตลอดคือ ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เดิมทีผมจะอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น แต่ว่าหลังจากเหตุการณ์ในปี 2549 เกิดขึ้น ผมก็ได้ตามมติชน เพราะหน้า 2 ของหนังสือพิมพ์มติชนมักจะเสียสละนำคำแถลงการณ์ หรือ รายละเอียดของเอกสาร ข้อมูลต่างๆ มาลงให้แบบเต็มๆ ไม่มีตัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ คำแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร บางครั้งยาวเกินพื้นที่ก็นำไปลงให้ครบในหน้าอื่น

“ที่ใช้คำว่าเสียสละก็เพราะขณะที่หนังสือพิมพ์ส่วนมากมักจะไม่ทำเพราะจะเสียพื้นที่หน้าซึ่งหมายถึงค่าโฆษณาและมักจะตัดเอาบางส่วนมาลงซึ่งใช้อ้างอิงไม่ได้ในทางวิชาการจึงทำให้เปลี่ยนมาอ่านและติดตามมติชนในที่สุด”

ก่อนที่เขาจะเสริมว่า ส่วนที่ชื่นชอบอีกคือ หน้าคนเมือง-ภูมิภาค เพราะอย่างน้อยครึ่งหน้าจะมีความเป็นไปในท้องถิ่นและต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อบต. อบจ. เทศบาล ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ

รวมถึงหน้าประชาชื่น ที่เอกชัยบอกว่า เป็นหน้าที่นำเสนอหัวข้อเฉพาะเจาะจงในประเด็นต่างๆ ซึ่งดีต่อการค้นคว้าวิจัยอีกด้วย

“ผมเข้าใจว่าสุดท้ายโลกกำลังหมุนไปสู่ ยุค Paperless แต่ว่าอย่างไรก็ตามก็อยากให้คนส่วนหนึ่งยังนิยมในการค้นหาข้อมูลจาก Paper หรือ หนังสือพิมพ์ เพราะว่าข้อมูลที่ลงในหนังสือพิมพ์จะมีความน่าเชื่อถือ และนิ่งพอสมควร ทำให้ผู้เสพสื่อต้องมีสมาธิในการใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ข่าว เพราะปัจจุบันทุกอย่างมันเร็วมากเกินไปที่จะวิเคราะห์ว่าเรื่องไหนคือเรื่องที่จริงและไม่จริง

“ในส่วนของออนไลน์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องชื่นชมโดยเฉพาะการเรียกร้องสิทธิของคนตัวเล็กๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักศึกษาที่ออกมาคัดค้านกับผู้มีอำนาจประเด็นเหล่านี้อาจไม่ได้รับความสนใจมากในทีแรก แต่มติชนได้มีการนำเสนอและเปิดพื้นที่ให้คนเล็กๆ มาโดยตลอด จนได้รับความสนใจในที่สุด”

เอกชัยยังได้ทิ้งท้ายถึงจุดยืนของมติชนอีกว่า ส่วนจุดยืนของทาง มติชน นั้น ต้องบอกว่าชื่อ “มติชน” ก็ชัดเจนว่าจะต้องสะท้อนมติของประชาชน อย่างแรกคือประชาชนส่วนใหญ่แต่ทุกฉบับจะมีพื้นที่ให้กับประชาชนส่วนน้อยพร้อมๆ กันเสมอ

“ดังนั้น ผมมองว่าหนังสือพิมพ์มีจุดยืนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่ผมชื่นชอบมติชนเพราะจุดยืนไม่เคยเปลี่ยน

“โดยเฉพาะในเรื่องของประชาธิปไตย และนิติรัฐ ที่ได้ยืนหยัดตลอดมา” เอกชัยกล่าว

อีกมุมมองจากคนวงการศึกษา

ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า อ่านมติชนมาเป็นสิบๆ ปี จนตอนนี้เป็นสมาชิกประจำ ส่วนตัวอ่านหลายฉบับแต่หนึ่งในฉบับที่รับประจำคือมติชน และเคยเขียนบทความทางการศึกษาไปลง มติชนกว้างและเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นต่างๆ มีหลากหลายแง่มุม มีรูปแบบทันสมัย ส่วนตัวสนใจเรื่องการศึกษา และติดตามมติชนออนไลน์และข่าวสดออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

“ในมุมผู้อ่านเท่าที่ดูจะมีเชิญชวนให้ผู้อ่านได้แสดงความเห็นมีคอลัมน์ที่มีบก.มาตอบ จะเห็นคนถามซ้ำๆ อาจเพราะเขายังคิดว่าไม่สามารถแสดงความเห็นได้รวดเร็ว เท่าที่ดูรู้สึกว่าจะซ้ำๆ ท่านเดิม บางคนใช้นามปากกาทำให้จำได้ง่าย ชอบอ่านหน้าประชาชื่น โดยสรุปแล้วโอเคถึงได้เป็นแฟนมานาน เห็นว่ามีหลายคอลัมน์ที่เป็นประโยชน์ ตัวเองสนใจคอลัมน์การศึกษา ขอชมว่าบทความหลากหลาย แน่นอนว่าสื่อดิจิตอลมาแน่ๆ แต่จะก้าวหน้ารวดเร็วแค่ไหนอยู่ที่ปัจจัยความพร้อมหลายประการ ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะของเรา บางประเทศก็ยังอุ้ยอ้ายอยู่ คิดว่าสื่อทุกชนิด 1.ต้องรักษาจรรยาบรรณของสื่อ 2.ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพัฒนา” ประพีร์พรรณกล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดว่าหนังสือพิมพ์และแวดวงการสื่อสารจะยากขึ้น แต่สื่อที่ทำให้คนอ้างได้หรือย้อนมาเปิดดูได้ก็ยังสำคัญอยู่มาก ความหนักแน่นของข่าวสารในสังคมภูมิภาคสมัยนี้ยิ่งจำเป็น เพราะมีความหวือหวา แกว่งไปมากันเยอะ การที่มติชนจะยืนอยู่บนความตั้งใจเดิมของมติชนก็สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองเฉพาะหน้าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

“ควรให้ความสำคัญกับข่าวที่ทำให้คนเราจะต้องคิดกว้างขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองช่วงชิงอำนาจ ประเทศเราอยู่กลางภูมิภาค โดยทำเลที่ตั้งและภูมิศาสตร์ มีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหลายชั้นไม่ใช่แค่ผู้นำ ข่าวเพื่อนบ้านผมคิดว่าจำเป็น อาจไปทำข่าวหรือมีมุมมองจากคนทางโน้นได้ก็ดี ทำให้มีความรู้สึกว่าเป็นหนังสือพิมพ์ของคนไทยที่ก้าวสู่ความเป็นเพื่อนของประชาคมอาเซียนแล้ว ไม่ใช่มองจากกรุงเทพฯหรือตัวเราเป็นที่ตั้ง ต้องทำให้คนรู้สึกว่าไทยเรามีฐานะที่ต้องดูแลบทบาทตัวเองให้ดีกว่านี้ในเรื่องเพื่อนบ้าน เราเป็นประเทศที่หนังสือพิมพ์ เช่น มติชนในยุคที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน สมควรจะมีบรรทัดฐานสูงขึ้น มุ่งสู่การเป็นฐานของการสร้าง ?มติ? ของ ?มหาชน? ที่พร้อมจะมีวุฒิภาวะสำหรับประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และอำนาจที่เหลื่อมล้ำมากระหว่างฝ่ายทุน ฝ่ายประชาชน และฝ่ายรัฐบาล” ศ.สุริชัยกล่าว

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า อ่านมติชนมานานแล้ว ที่มหาวิทยาลัยก็รับอยู่เกือบทุกตึก ส่วนตัวคิดว่ายังน่าเชื่อถือ เพราะหลายอย่างที่เห็นในโลกออนไลน์พบว่าค่อนข้างมีอคติ บางที่ไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ แต่มติชนยังคุมโทนได้ ไม่มีพวกวิจารณ์เอามัน นอกจากนี้ ก็ยังติดตามมติชนสุดสัปดาห์ด้วย

“อยากแนะนำช่องทางออนไลน์ของมติชน โดยเข้าไปอยู่ในแอพพลิเคชั่นที่เด่นๆ ตอนนี้ จะเพิ่มให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น อย่าง Press Reader เป็นแอพพ์ที่รวมหนังสือพิมพ์ทั่วโลก หลายมหาวิทยาลัยสมัครแอพพ์นี้อยู่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มนโยบายน่าจะเปลี่ยนเป็นออนไลน์มากขึ้น แม้จะยังรับหนังสือพิมพ์เล่มอยู่ ถ้ามติชนเข้าไปอยู่ในนี้ด้วยน่าจะดี ส่วนเรื่องการนำเสนอข่าว อาจต้องเพิ่มแง่มุมให้หลากหลายขึ้น จึงอาจจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้บ้าง ถ้ามีความเห็นตรงข้ามขึ้นมา น่าจะช่วยสร้างภาพความบาลานซ์มากขึ้นเพื่อลบภาพที่คนบางกลุ่มมอง” ดร.ฐิติพลกล่าว

และนี่คือความเห็นจากผู้อ่านมติชน เพื่อก้าวต่อไปที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image