ก.พ.ร. สานต่อความร่วมมือ ‘ป.ป.ท. – โออีซีดี’ ขันน็อตแผนความซื่อตรงภาครัฐระยะ 2

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และองค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) หรือ โออีซีดี ดำเนินการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทย ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารภาครัฐให้โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยนำข้อเสนอแนะและผลการศึกษาตามกรอบแนวทางปฏิบัติของโออีซีดี ด้านความซื่อตรงในภาครัฐไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีการประยุกต์กรอบการดำเนินงานให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของภาครัฐ นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐให้โปร่งใส ผลักดันให้เกิดความไว้วางใจต่อรัฐบาล รวมทั้งยกระดับความน่าเชื่อถือด้านความซื่อตรงของประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล

น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่นำกรอบแนวทางปฏิบัติของ โออีซีดี ด้านความซื่อตรงในภาครัฐมาประเมินความซื่อตรงในภาคราชการไทย ได้ดำเนินการไปแล้วใน 3 มิติ ได้แก่ 1. ประมวลภาพรวมและการบูรณาการหน่วยงานขับเคลื่อนการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐ 2.วัฒนธรรมการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3. การควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งโออีซีดียังมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศไทยนำไปใช้กำหนดนโยบายด้านความซื่อตรงในภาครัฐ อาทิ การบูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเป็นการเฉพาะ ที่นอกเหนือจากการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ก.พ.ร.ได้จัดแถลงข่าวและการดำเนินงานในระยะที่ 2 เน้นการเพิ่มศักยภาพนโยบายด้านการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐ และและขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมในด้านการจัดการความเสี่ยง การควบคุมและตรวจสอบภายใน

“มาตรการทางวินัยและจริยธรรม รวมถึงหลักประกันความซื่อตรงในกระบวนการตัดสินใจและความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย ความซื่อตรงนั้นจะสร้างให้เกิดความไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยกระดับความเชื่อมั่นของประชาชนให้เกิดความไว้วางใจในการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศในระยะยาว ทำให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะร่วมบูรณาการการทำงาน โดยอาศัยความร่วมมือและมีเป้าหมายร่วมกันในการออกแบบและดำเนินนโยบายความซื่อสัตย์ เพื่อสะท้อนถึงสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความยุติธรรม โปร่งใส อันจะส่งผลให้เกิดกับประชาชนอย่างแท้จริง”รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image