ผังน้ำของประเทศ เครื่องมือคุมบริหารจัดการน้ำ

ถ้าเคยดูผังน้ำ (Chart) แม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา เริ่มตั้งแต่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ แล้วไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เหนือเขื่อนทดน้ำจะเป็นลำน้ำสาขาและคลองส่งน้ำแยกซ้ายขวาไปตามพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ก่อนไหลลงทะเล

ผังน้ำนี้เป็นการเขียนแบบเคร่าๆ ไม่มีรายละเอียดอื่นใด นอกจากเส้นทางการไหลของน้ำ และขีดความสามารถรองรับอัตราการไหลสูงสุดของแต่ละลำน้ำ หรือช่วงลำน้ำ ไม่ใช่ผังน้ำทั้งระบบ อย่างคำนิยามของ สทนช.

“เส้นทางไหลของน้ำแสดงขอบเขตชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงแหล่งน้ำและทะเลหรือทางน้ำระหว่างประเทศ ระบบทางน้ำครอบคลุมแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง กุด ป่าบุ่ง ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่ทางน้ำหลาก พื้นที่น้ำนอง พื้นที่ลุ่มต่ำ ไม่ว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้าง เป็นเส้นทางน้ำมีทั้งไหลตลอดเวลา หรือไหลบางช่วง” นิยามผังน้ำ ตาม พรบ.น้ำ ล่าสุด

Advertisement

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เสริมสั้นๆ เข้าใจง่ายอีกว่า เป็นเส้นทางไหลของน้ำที่แสดงขอบเขตชัดเจน ตั้งแต่ต้นน้ำจนออกสู่ทะเล

ที่ผ่านมามีบางหน่วยงานจัดทำผังน้ำ เช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง แต่ยังไม่ละเอียดพอคงต้องศึกษาเพิ่มเติมจากต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องผังน้ำ

“เรื่องนี้ สทนช. ทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ที่สำคัญ ต้องรับฟังเสียงประชาชน เพราะผังน้ำจะเสนอแนะข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ให้กระทบต่อเส้นทางน้ำ การบังคับใช้จะเป็นการรอนสิทธิ ประชาชนจึงต้องมีส่วนรับรู้ด้วย”

ที่ต้องจัดทำผังน้ำและประกาศใช้ผังน้ำ เป็นผลมาจากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 กำหนดไว้ให้ สทนช. ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้จัดทำผังน้ำเสนอ กนช. เมื่อผ่านการอนุมัติจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการภายใน 2 ปีนับแต่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

“ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ส่วนหนึ่งเรายังมีข้อจำกัดด้านความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศที่เขาเชี่ยวชาญ เช่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น โดยเป็นทั้งผังน้ำชาติ ผังน้ำภาค และผังน้ำระดับพื้นที่” ดร.สมเกียรติกล่าว

เพราะไม่ใช่ผังที่ขีดเขียนขึ้นคร่าวๆ ลากเอาเอง แต่จะเป็นผังแสดงเส้นทางการไหลของน้ำ จำลองจากพื้นที่จริง อาศัยมาตราส่วนที่ชัดเจน แสดงระดับพิ้นที่ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีรายละเอียดและความแม่นยำอย่างยิ่ง

ตามแผน สทนช. กำหนดออกแบบผังน้ำนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ในปี 2562 นี้ ใช้เวลา 270 วัน ในปี 2563 จัดทำผังน้ำอีก 5 ลุ่มน้ำที่มีปัญหาวิกฤติบ่อย จากนั้นทะยอยจัดทำจนครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ

“เราเป็นหน่วยงานศึกษาออกแบบ และหน่วยงานอื่นเอาไปปฏิบัติตามผังน้ำ เป็นกฎหมายลูกสำหรับบริหารจัดการน้ำ  การออกแบบมีความสำคัญ นอกจากเพื่อบริหารจัดการน้ำแล้วยังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินระบุว่า ควรทำอะไร กระทั่งปลูกพืชอะไร และจะก่อสร้างอาคารแบบใดที่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย” เลขาธิการ สทนช. ย้ำ

พูดง่ายๆ ผังน้ำคือแผนที่เส้นทางน้ำจากต้นน้ำจนถึงทะเล ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น เห็นภาพน้ำได้ทั้งระบบ และวางแผนป้องกันแก้ไขได้แต่เนิ่นๆ โดยใช้เครื่องมืออื่นประกอบด้วย เช่น การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการพยากรณ์ระดับน้ำทะเลของกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ภาพถ่ายทางอากาศดาวเทียมของ GISTDA เป็นต้น

นี่คือความสำคัญของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และกฎหมายลูกที่กำลังจะตามออกมาเป็นระลอก ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image