ความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก-สตรีสูงขึ้น ต้นตอจากคนรอบตัวมากสุด

องค์การอนามัยโลกได้สำรวจความถี่ของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงอายุน้อยระหว่าง 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศโดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ชายอายุน้อยมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากกว่า

เป็นข้อมูลที่สะท้อนยจากหัวข้อเสวนา “ความรุนแรงเรื่องรอบตัว” ในการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรเฉพาะกลุ่ม หรือ Voice of the voiceless : the vulnerable populations” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้

ความรุนแรงใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ สตรีและเด็ก ถูกกระทำอย่างรุนแรงจากคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว ข้อมูลในสื่อทุกแขนง พบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจวันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีตัวเลขผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้องทุกข์สูงถึงปีละ 30,000 คน ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงมีปัจจัยร่วมจากเครื่องดื่มมึนเมา สารเสพติด สื่อลามก พื้นฐานจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในสังคม

กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลด้วยว่า ทุกชั่วโมงมีเด็ก-สตรีถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย เด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุดจากคนรอบตัว ส่งผลให้ซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกทำให้เห็นแนวโน้มว่า ความรุนแรงจากคนใกล้ตัวที่เกิดขึ้นกับสตรีและเด็กยังคงเป็นปัญหาที่เพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

รูปแบบการใช้ความรุนแรงนอกจากทางด้านร่างกายแล้วยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น การด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เศร้า เสียใจ ทอดทิ้ง หรือเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ข่มขู่ การนอกใจ การบังคับให้ค้าประเวณี การเพิกเฉยไม่สนใจไยดีฯ เหล่านี้เป็นการกระทำรุนแรงและล่วงละเมิดทางจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการกระทำความรุนแรงก็ได้เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเช่นกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การแชร์ การโพสต์และการแสดงความเห็นในลักษณะล่วงละเมิดทางเพศ ล่วงละเมิดสิทธิเด็กและสตรี การใช้ข้อมูลทั้งภาพและเสียงที่เป็นเท็จกล่าวหา ดูหมิ่น เหยียดหยามบุคคลอื่น จนทำให้เสียหายอับอาย ขณะที่ทางอ้อมสื่อสังคมออนไลน์บางส่วนก็กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงและการล่วงละเมิด อย่างที่เห็นเป็นข่าวและคดีความตามมา

Advertisement

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ตัวแทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงสภาพปัญหาความรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีการใช้สื่อออนไลน์รังแกกันทางเพศ เช่น กรณีหญิงสาวถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้วมาโพสต์บอกเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายเพื่อเป็นการเตือนภัยสังคม แต่กลับมีความเห็นว่า “หน้าตาอย่างงี้ก็ยังมีคนเอา”  ถือเป็นการดูหมิ่นและล่วงละเมิดซ้ำ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความอับอายและมีผลต่อทางสุขภาพจิต

การรับมือเฉพาะหน้าต่อเหตุการณ์นี้ อังคณา เสนอว่า ควรมีการชี้แจงเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงต้องออกมาพูดเรื่องนี้ แต่ไม่ควรใช้วิธีเดียวกันตอบโต้ เพราะจะทำให้การรังแกกันทางสื่อออนไลน์บานปลาย

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือ “นานา”  ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiconsent.org และแฟนเพจเฟซบุ๊ก Thaiconsent ภายใต้สโลแกน แฟร์เซ็กส์ แฮปปี้เซ็กส์ สุนทรียะทางเซ็กส์ และการเคารพในความสัมพันธ์ ได้บอกเล่าประสบการณ์การทำสื่อสังคมออนไลน์ว่า เรื่องของชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องบนเตียง แม้อีกฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ตาม แต่เป็นสิ่งกระตุ้นต่อมเผือก (ความอยากรู้-อยากมีส่วนร่วม) ให้ทำงานทันที ดังนั้นทางเพจจึงใช้ธรรมชาติของมนุษย์เรื่องความอยากรู้เรื่องของชาวบ้านนี้มาช่วยแก้ปัญหาความรุนแรง

“เมื่อมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นหรือเข้ามามีส่วนร่วมกับโพสต์เกี่ยวกับการถูกกระทำรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาก ทางเพจก็ถือโอกาสโพสต์แนะนำผู้เข้ามาว่าเรื่องนี้ขอให้เป็นอุทาหรณ์สอนตน เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งแนะนำผู้ชายบางคนที่มีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติด้วยการไปพบจิตแพทย์

“การแนะนำในลักษณะยกเหตุการณ์เป็นอุทาหรณ์ รวมถึงการรณรงค์เรื่อง Sexs Fair คือการมีความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่ายผ่านทางสื่อโซเชียล เห็นผลเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน มีผู้แสดงความเห็นด้วยทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ แสดงความเห็นต่อต้านการกระทำรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศวิภาพรรณ ระบุ

ดร.มนทกานติ์ เชื่อมชิต วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรุนแรงในชีวิตคู่และในครอบครัว เมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกและเพิ่มระดับความรุนแรงด้วย ซึ่งเด็กที่โตมาในครอบครัวที่มีความรุนแรงมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงในอนาคต แม้ความรุนแรงในชีวิตคู่นับเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ที่มีทั้งการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจและทำร้ายทางเพศ

อย่างไรก็ดี การนำสื่อสังคมออนไลน์มาช่วยแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือเหยื่อจากความรุนแรง ดร.มนทกานติ์ บอกว่า นักวิจัยวิทยาวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น iCanPlan ขึ้นมาใช้ประเมินความสัมพันธ์/ความรุนแรงในชีวิตคู่ด้วยตนเอง และเป็นช่องทางการสืบค้นแหล่งช่วยเหลือเบื้องต้นในภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว หรือให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือได้

ตุ่น ปิ่นแก้ว ตัวแทนบริษัท Shma SoEn บริษัทผลิตสื่อสังคม ระบุว่า บริษัทได้ร่วมกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงและภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร จัดโครงการรณรงค์เกี่ยวกับการต่อต้านและป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งกิจกรรมการรณรงค์มีหลายรูปแบบ ทั้งในสังคมออนไลน์ที่มีการก่อตั้งกลุ่ม #ทีมเผือก ขึ้นมา ให้ประชาชนเข้าร่วมกลุ่มเป็นเครือข่ายไม่เงียบ ไม่นิ่งเฉย เมื่อพบการคุกคามทางเพศ

นอกจากนี้ โครงการปักหมุดจุดเผือก กิจกรรมนี้ให้เครือข่าย#ทีมเผือก ช่วยกันสอดส่องระวังภัย เพราะการสร้างพื้นที่สาธารณะหลายจุดในกรุงเทพฯ พบว่าบางแห่งไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม บางแห่งถูกออกแบบมามีพื้นที่จุดอับ หรือบางแห่งสร้างขึ้นมาแล้วไม่ค่อยมีคนได้ใช้ จนในที่สุดกลายเป็นจุดเปลี่ยว คนที่สัญจรไปมารู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เส้นทางเหล่านี้ เพราะมันจำเป็นจริงๆ

“ทางเครือข่าย #ทีมเผือก ก็จะเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวในเวลาที่ปลอดภัย เพื่อทำการปักหมุดระบุตำแหน่งแจ้งเป็นพื้นที่เสี่ยงถูกละเมิดทางเพศหรือเสี่ยงถูกกระทำด้วยความรุนแรง ก่อนรวบรวมเป็นแผนที่ข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น” ตุ่น ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image