ปลานิลแปลงใหญ่ในกระชัง เขื่อนลำปาว ผลสำเร็จของการบูรณาการเครือข่ายแปลงใหญ่

กรมส่งเสริมการเกษตรบูรณาการร่วมเครือข่ายแปลงใหญ่ ส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว ต่อยอดพัฒนาไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์ ร่วมกันบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางอย่างเป็นระบบ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคง

นายราชิตร์ แก่นทอง ผู้จัดการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (เลี้ยงปลานิลในกระชัง) จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า เดิมทีเกษตรกรรอบๆ พื้นที่บริเวณเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีอาชีพทำไร่ ทำนา แต่เนื่องจากราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจึงหันมาเลี้ยงปลานิลในกระชัง จนกระทั่งกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด มีต้นทุนการผลิตต่ำและผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต จนสมาชิกเกิดความเข้มแข็ง มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย พึ่งพาอาศัยกัน

ปัจจุบันในกลุ่มมีสมาชิก 58 ราย มีจำนวนกระชังของสมาชิกกว่า 2,000 กระชัง และได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและได้พัฒนามาเป็นสหกรณ์ในปัจจุบัน โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของเครือข่ายแปลงใหญ่ที่เข้ามาแนะนำ ส่งเสริม เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมงและกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมความรู้ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรวมกลุ่มและการบริหารจัดการ การแปรรูป รวมถึงการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP ตลอดจนด้านการตลาด ซึ่งแตกต่างจากตอนที่เราเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยง เพราะต้องประสบปัญหากับพ่อค้าคนกลางกดราคา

Advertisement

การบริหารจัดการของกลุ่มภายหลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนให้ผู้จัดการแปลงเข้าอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารกลุ่มแปลงใหญ่เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมมาใช้ในการบริหารจัดการแปลงให้มีความเข็มแข็งมากขึ้น มีการวางแผนการผลิตให้กับสมาชิกอย่างเป็นระบบตั้งแต่จัดหาพันธุ์ปลา การลงเลี้ยงลูกปลา การจัดหาอาหารปลาเพื่อลดต้นทุนการผลิต และจะบริหารลำดับการจับปลาเพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกเป็นระยะทุกๆ 5 เดือน โดยสหกรณ์จะประกันราคารับซื้อจากสมาชิกกิโลกรัมละ 55 บาท ทำให้สมาชิกมีกำไรและลดความเสี่ยงเรื่องตลาด โดยใน 1 ปีมีผลผลิตออกสู่ตลาด 2 ครั้ง เกษตรกรมีกำไรไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อครั้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน มั่นคง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Advertisement

​“หลังจากเกษตรกรหันมารวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ปลานิลในกระชังในรูปแบบของสหกรณ์แล้ว ทำให้สมาชิกแปลงใหญ่ปลานิลในกระชังมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน จนกลายเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไปในที่สุด ซึ่งถือว่านโยบายเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นนโยบายที่ดีที่เน้นการตลาดนำการผลิต และวางแผนการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตร่วมกัน ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพมากขึ้น”นายราชิตร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image