จิตอาสาศิลปกรรม สร้างสีสันทันตแพทย์

เดินหน้าสร้างสรรค์ศิลปะ Street Art เพื่อชุมชน ในพื้นที่สยามสแควร์ สวนหลวง-สามย่าน อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโครงการ “CHULA  ART TOWN” โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดมศิลปินจิตอาสา มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนกำแพงคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังใช้งานศิลปะช่วยจรรโลงจิตใจ บำบัดความเครียดจากรถติด พร้อมสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาใส่ใจดูแลสุขภาพฟัน

การสร้างปรากฏการณ์ Street Art ครั้งสำคัญ ของโครงการ “CHULA ART TOWN” ในครั้งนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการจิตอาสาศิลปกรรม สร้างสีสันทันตแพทย์ ในวาระครบรอบ 36 ปี คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ 80 ปี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้งานศิลปะเป็นสื่อในการร่วมเฉลิมฉลอง ผ่านผืนกำแพงฝั่งสยาม สแควร์ และผนังอาคารนวมหาราช โดยมีศิลปิน นิสิต และคณาจารย์จุฬาฯ พร้อมด้วยนักเรียนจิตอาสาผู้มีใจรักงานศิลปะ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

Advertisement

ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า “โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ“CHULA  ART TOWN” ในโอกาสที่คณะทันตกรรม ครบ 80 ปี คณะศิลปกรรม 36 ปี เราอยากให้มีการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิตใจคน ลดความเครียดจากรถติด ศิลปะไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน การได้มาทำงานในพื้นที่สาธารณะถือเป็นการนำศิลปะมารับใช้ชุมชน เราจึงมอบเป็นของขวัญคืนความสุขให้แก่ทุกๆ คนในสังคม โดยขอความร่วมมือจากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการใช้พื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะ โดยมี ศิลปิน นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบันของคณะศิลปกรรม คณะทันตแพทย์ และกลุ่มศิลปะโรงเรียนมัธยมต่างๆ สมัครมาเป็นจิตอาสา ผลงานที่ออกมาจึงตอบสนองทุกช่วงวัย โดยมีธีมที่พูดถึงความเป็นมาของคณะทันตแพทย์ การสร้างเสริมสุขภาพฟันแก่คนที่เดินผ่านไปมา เพื่อให้เกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพฟัน”

พื้นที่การสร้างสรรค์ผลงานของเหล่าจิตอาสาศิลปกรรมครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ริมกำแพงของคณะทันตแพทยศาสตร์ ฝั่งสยามสแควร์ มีจำนวนผนัง 68 ล็อก รวมถึงพื้นที่ผนังอาคารนวมหาราช ซึ่งจิตอาสาทุกคนที่มาทำงานต่างมากันด้วยความเต็มใจยิ่ง โดยผลงานแต่ละชิ้นต่างสะท้อนภาพลักษณ์ของพื้นที่ สื่อสารถึงเรื่องราวของทันตกรรม และจะเป็นปรากฏการณ์ Street Art สำคัญของกรุงเทพมหานคร

Advertisement

ดร.สิริธร ศรีชลาคม รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ผู้ผลักดัน และเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้มุมมองการทำงานครั้งนี้ว่า “งานแต่ละชิ้นที่ปรากฏออกมาจะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ชุมชนตรงนั้นคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร อย่างตรงนี้เรานำเสนอเรื่องของฟัน รอยยิ้ม สุขภาพฟัน สะท้อนว่าหลังกำแพงนี้คือ คณะทันตแพทย์ ซึ่งภาพของเดิมเป็นกำแพงแมงมุม มีศิลปินต่างประเทศ เป็นแนวเอนิเมชั่น ที่ต้องการให้ผู้ชมเห็นแมงมุมวิ่ง ซึ่งต้องอาศัยการเคลื่อนที่ของรถที่วิ่งผ่านแบบเร็วๆ ภาพของแมงมุมถึงจะเคลื่อนไหวได้ แต่จุดนี้รถติดมาก ภาพที่วาดไว้ไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้ เราจึงเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งการทำงานครั้งนี้จะเป็นแบบฟรีสไตล์เราบอกแค่คอนเซ็ปต์ แล้วให้ศิลปินจิตอาสาแต่ละคนจินตนาการเอง”

Street Art ที่บริเวณสยามสแควร์ บนกำแพงของคณะทันตแพทย์ศาสตร์ นอกจากความสวยงาม และเป็นการเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน สังคมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเรื่องของการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การพัฒนาฝีมือ การมีพื้นที่ในการนำเสนองานศิลปะ การแสดงออกถึงความเสียสละ และปลูกฝังแนวความคิดเรื่องของการทำงานจิตอาสาด้วยหัวใจ ให้เกิดขึ้นในสังคม

ชยากร สุขจันทรา นิสิตชั้นปี 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาทัศนศิลป์ ผู้ทำงานจิตอาสาครั้งนี้ด้วยหัวใจ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ หลังจากได้รับโจทย์การทำงานเรื่องของทันตกรรม ที่นำพาให้ตนเองเข้าไปค้นคว้า และพบเรื่องราวของทันตกรรมพระราชทาน พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 “ผมมีความรู้สึกว่าการทำงานจิตอาสาเป็นสิ่งที่ดี ผมรู้สึกซาบซึ้งและประทับใจในการทรงงานอย่างไม่เกรงกลัวความเหน็ดเหนื่อยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในครั้งที่ท่านเสด็จฯ ทรงงานในถิ่นทุรกันดาร ครั้งหนึ่งพระองค์ ไปพบราษฏรที่มารับเสด็จมีหน้าตาแสดงออกถึงความไม่สบาย จึงสอบถามอาการ ราษฏรผู้นั้นตอบว่าฟันไม่มี กินอะไรไม่ค่อยได้ พระองค์จึงตรัสให้ไปใส่ฟันซะแล้วจะเคี้ยวอะไรได้  วันนี้จึงถ่ายทอดผลงานออกมาเป็นรูปผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมพระราชทานแล้วยิ้มอย่างมีความสุข”

ขณะที่ พรภัทรา จุฬามณี นิสิตปี 4 คณะทันตแพทยศาสตร์ ทราบข่าวว่าจะมีการวาดภาพบนกำแพงคณะฯ จึงไม่พลาดที่จะสมัครมาร่วมกิจกรรมเพราะตนเองเรียนอยู่คณะทันตแพทย์ เหมือนเป็นบ้านของเรา การได้มาทำงานเพื่อส่วนรวมจึงรู้สึกภูมิใจ “โดยส่วนตัวชอบการวาดรูปเลยมาสมัคร เคยวาดคัตเอาท์มาก่อน และงานจิตอาสาทำมาโดยตลอด อย่างการออกหน่วยทำฟันฟรีให้ประชาชน งานจิตอาสาเป็นงานที่ทุกคนสามารถมาทำร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวย หรือระบายสีเป็น แต่เรามาช่วยๆ กัน สำหรับชิ้นงานในวันนี้อยากสื่อถึงเรื่องราวของคณะทันตแพทย์ที่ครบรอบ 80 ปี มีอุปกรณ์ในห้องทำฟันบอกเล่าเรื่องของการทำฟัน”

นอกจากนี้ มีทีมเยาวชนจากหลายโรงเรียนได้รวมกลุ่มกันมาร่วมทำงานเพื่อสังคม หนึ่งในนั้นคือ พัชรา รวิรุจิพันธุ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งเห็นประกาศผ่านไลน์ และมีความสนใจ จึงชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มมาสมัครทำงานครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมจิตอาสาเป็นกิจกรรมที่ผู้ปกครอง และโรงเรียนสนับสนุนและส่งเสริมให้ทำอยู่เสมอ “งานจิตอาสา เป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เห็นประกาศทางไลน์ เลยชวนเพื่อนๆ มาร่วมทำงาน ครั้งนี้เป็นการวาดภาพชิ้นใหญ่ครั้งแรก คอนเซ็ปต์คือการนำเสนอเรื่องของฟันให้สอดคล้องกับธีมงาน อยากให้ทุกคนมาทำงานจิตอาสา เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมาก โอกาสแบบนี้ไม่มีให้เราทำได้บ่อยๆ ใครจะมาเปิดพื้นที่กำแพงให้เราวาดรูป งานนี้เป็นกิจกรรมที่สนุกมาก”

การทำงานจิตอาสา ในโครงการจิตอาสาศิลปกรรม สร้างสีสันทันตแพทย์ ถือเป็นการสื่อให้เห็นถึงตัวตน และเป็นภาพสะท้อนให้สังคมรับรู้ในความสำคัญของพื้นที่ ผลงานศิลปะ Street Art บนกำแพงคณะทันตแพทย์ ยังก่อเกิดความจรรโลงใจขณะชม ช่วยคลายความเครียด และสร้างความตระหนักเรื่องของการดูแลสุขภาพฟันอีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image