เกษตรกรมหาสารคาม เชื่อมั่นเทคโนโลยี พด. แก้ดินเค็มสำเร็จ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

นายชูเกียรติ คำโสภา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ทั้งหมด 3.6 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องดินเค็ม 55% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของพืชที่ปลูกลดลง ส่วนใหญ่จะพบการกระจายตัวของดินเค็มทางตอนกลางและตอนล่างของจังหวัด สามารถจำแนกได้ตามระดับความเค็มดังนี้ 1.ดินเค็มน้อย เป็นบริเวณที่พบคราบเกลือ มีปริมาณน้อยกว่า 1% ของพื้นที่ มีอยู่ประมาณ 1 ล้านไร่ พบที่ อำเภอโกสุมพิสัย  บรบือ และพยัคฆภูมิพิสัย 2.ดินเค็มปานกลาง คือพื้นที่บริเวณที่พบคราบเกลือ กระจัดกระจายตามผิวดิน มีปริมาณ  1-10% มีปริมาณ 1.7 ล้านไร่ พบที่ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 3.ดินเค็มมาก คือบริเวณที่พบคราบเกลือตามผิวดินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มีปริมาณมากกว่า 10% ของพื้นที่ มีปริมาณ 1.7 แสนไร่ พบที่อำเภอวาปีปทุม

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้ร่วมมือกับสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยขึ้น เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการพื้นที่ดินเค็มอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สามารถขยายผลไปสู่พื้นที่ที่มีปัญหาดินเค็มของจังหวัดมหาสารคามต่อไป โดยดำเนินการในพื้นที่อำเภอบรบือ เนื่องจากมีพื้นที่ทั้งหมด 426,000 ไร่ มีพื้นที่ดินเค็มคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรของเกษตรกร ซึ่งในปีนี้ดำเนินการ ณ บ้านหอกลอง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองสิม อำเภอบรบือ จำนวน 1,000 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นคราบเกลือเป็นดินเค็มน้อยถึงปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ผลผลิตของข้าวต่อไร่ต่ำ  การเจริญเติบโตของข้าวลดลงทำให้ผลผลิตและคุณภาพของพืชที่ปลูกลดลง

กิจกรรมที่สถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคามเข้าไปดำเนินการ แบ่งเป็น กิจกรรมควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งผิวดินและใต้ผิวดิน ดำเนินการโดยปรับรูปแปลงนาลักษณะที่1 พร้อมทั้งส่งเสริมปลูกกระถินออสเตรเลียบนคันนา กิจกรรมจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยดำเนินการปรับรูปแปลงนาลักษณะที่1 พร้อมปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา และกิจกรรมการจัดทำแปลงสาธิตการจัดการดินพื้นที่ดินเค็ม โดยปลูกพืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 45 ราย

Advertisement

ผลจากการเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นการปรับปรุงบำรุงดินและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของดิน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม พบว่าเกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจและให้การยอมรับ ตลอดจนให้ความร่วมมือในการแก้ไขและปรับปรุงให้ดินมีคุณภาพที่ดีขึ้น เกษตรกรเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดีขึ้น และช่วยทำให้เกษตรกรรายอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการและมีความพร้อมที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขและปรับปรุงดินให้ดีขึ้นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image