ผักบุ้งน้ำและนาบัว พืชทางเลือกสร้างกำไรให้ชาวนาเมืองนนท์

นางอัญชนา  ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า  สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top4) ของจังหวัดนนทบุรี ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ทุเรียน และกล้วยไม้  โดยพบว่า เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ จากการผลิตข้าวนาปี ในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เฉลี่ย 1,447 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,393 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง พื้นที่ S1/S2 ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 932 บาท/ไร่ ในขณะที่พื้นที่ S3/N ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 842 บาท/ไร่  ทุเรียน ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 44,068 บาท/ไร่ และ กล้วยไม้ ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 253,386 บาท/ไร่

เมื่อพิจารณาพื้นที่ปลูกข้าวจังหวัดนนทบุรี พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่มีความเหมาะสมมากและปานกลางสำหรับปลูกข้าว จำนวน 139,336 ไร่ ในขณะที่พื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวมีจำนวน 15,363 ไร่ โดยปัจจุบันเกษตรกรได้มีการปรับการเพาะปลูกข้าวให้เร็วขึ้นในพื้นที่ราบลุ่ม เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลากเพื่อเป็นที่รองรับน้ำ และพื้นที่บางส่วนเกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย ได้แก่

การทำนาบัว (บัวฉัตร) แหล่งผลิตอยู่ที่ อ.บางใหญ่ และ อ.บางกรวย มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 27,313 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 10,887 บาท/ไร่/ปี การทำนาผักบุ้งน้ำ อายุปลูก-เก็บเกี่ยว 90 วัน มีต้นทุนการผลิต 7,474 บาท/ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 11,526 บาท/ไร่/รอบการผลิต การปลูกผักต่างๆ หมุนเวียนให้เหมาะสมกับฤดูกาลและความต้องการของตลาด อาทิ เช่น กุยช่าย เก็บใบและดอกกุยช่ายขาย มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 49,387 บาท/ไร่/ปี ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 31,813 บาท/ไร่/ปี กะเพราแดง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 59,576 บาท/ไร่/ปี ได้ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 12,425 บาท/ไร่/ปี  ผักกาดหอม อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,482 บาท/ไร่ ได้ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 1,518 บาท/ไร่/รอบการผลิต  รวมทั้งการปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ เช่น ปลูกต้นดอกรัก ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ทนแล้ง สามารถปลูกตามคันนาหรือปลูกแซมในพื้นที่ว่างเปล่า เก็บผลผลิตได้ตลอดปี มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 24,514 บาท/ไร่/ปี ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 25,486 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ ผักบุ้งน้ำ กุยช่าย กะเพราแดง ผักกาดหอม และดอกรัก แหล่งผลิตอยู่ที่ อ.ไทรน้อยและ อ.บางบัวทอง นอกจากนี้ หากเกษตรกรมีการปลูกแซมไม้ดอกอื่นๆ ได้แก่ ต้นดอกจำปี ดอกดาหลา และ เตยหอม เป็นต้น ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย

Advertisement

ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) กล่าวเสริมว่า จังหวัดนนทบุรีมีที่ตั้งใกล้แหล่งรับซื้อ เช่น ตลาดไท ตลาดปากคลองตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและรักษาคุณภาพของสินค้าได้ ทั้งนี้ การร่วมวางแผนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด สิ่งสำคัญการมีข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดจะเป็นข้อมูลเชื่อมโยงเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จังหวัดนนทบุรีได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม จึงควรมีแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคกลาง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 โทร. 056 405 005 – 8 หรือ อีเมล [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image