การเคหะแห่งชาติใช้อาคารแปลง G เป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้

การเคหะแห่งชาติใช้อาคารแปลง G เป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ เผยอยู่อาศัยครบ 1ปีแล้วคุณภาพชีวิตดีขึ้น ระบุเมืองน่าอยู่ไม่ได้มีเฉพาะเทคโนโลยีด้านเดียวเท่านั้น ยังมีเรื่องผังเมือง สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การเชี่อมโยงการเดินทางที่สะดวก

 ดร.ธัชพล กาญจนกูล  ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางเมืองน่าอยู่หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ว่าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจัดอยู่ในกรอบสมาร์ทซิตี้ชัดเจน แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารบนแปลง G เสร็จแล้ว ต่อไปเป็นการขยายการก่อสร้างระยะที่ 2-3-4 ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งการวางผังเมือง การเชื่อมโยงเส้นทางภายในโครงการ และระหว่างโครงการกับภายนอกที่มีรถไฟฟ้าผ่าน การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพ เป็นต้น

“สมาร์ทซิตี้ไม่ได้มีเฉพาะด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบด้านอื่นๆ รวมอยู่ด้วย”ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ยกตัวอย่างอาคารที่อยู่อาศัยแห่งแรก แปลง G จำนวน 334 หน่วย ขณะนี้มีผู้อยู่อาศัยครบ 100% แล้วว่า การเคหะแห่งชาติขับเคลื่อนทั้งเรื่องการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนผ่านผู้นำธรรมชาติ จิตอาสา การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น ทั้งบริเวณรอบข้าง และชั้น 7 ที่รองรับผู้สูงอายุ การจัดตั้งหน่วยดูแลสุขภาพผู้อยู่อาศัย โดยประสานกับหน่วยงานสาธารณสุข การรักษาความปลอดภัย และเข้มงวดเรื่องยาเสพติด ขณะเดียวกันมีการใช้เทคโนโลยีด้วย เช่น ระบบ wifi ระบบคีย์การ์ด ระบบควบคุมเพลิงทั้งนี้ นับแต่มีผู้ทะยอยเข้าอาศัยในอาคารแปลง G ครบ 1 ปี ปรากฏว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นชัดเจน ทั้งความสะดวก สบาย สะอาด ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี

“แปลง G ขนาดโครงการยังเล็ก ต่อไปเมื่อขยายครบทั้ง 4 ระยะ จะเห็นความชัดเจนที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งโครงการ โดยจัดเตรียมระบบรองรับการพัฒนาในทุกด้าน ส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ การจัดตั้งห้องปฏิบัติการควบคุมกลาง (Control Room) สำหรับควบคุมระบบทั้งโครงการ ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ดินแดงเป็นสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองน่าอยู่ ต่างจากภาพเดิมโดยสิ้นเชิง” ดร.ธัชกล กล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติยอมรับว่า การขับเคลื่อนการก่อสร้างโครงการระยะที่ 2-3-4 ประสบปัญหาล่าช้าไปจากแผนเดิม เนื่องจากจะเริ่มก่อสร้างได้ ต่อเมื่อรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก่อนส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามลำดับ ในขณะภาคเอกชนเมื่ออีไอเอผ่าน คชก. สามารถก่อสร้างได้ทันที

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image