มารู้จัก RQ เลี้ยงลูกสมัยใหม่ ฉลาดด้านอารมณ์ ฉบับสร้างเกราะให้ใจเเกร่ง ล้มเเล้วลุกได้

ในปัจจุบันเมื่อสังคมดูเร่งรีบ ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยน้อยลงการดูเเลเอาใจใส่คนรอบข้างก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อเเม่ผู้ปกครองที่ต้องทำงานหนักในยุคเศรษฐกิจใหม่ การเลี้ยงลูกอย่างไรให้มี “จิตใจเเข็งเเกร่ง” ที่เเท้จริงไปพร้อมๆ กับมีสุขภาพกายที่เเข็งเเรง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ภาวะการพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กเเต่ละคนช้าเร็วไม่เหมือนกัน บางครั้งเกิดความผิดปกติขึ้นบ้างเเละมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ บางครั้งก็เป็นเพียงอาการทางสุขภาพจิตเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นได้เป็นโรคเเละไม่ต้องกินยา เเต่ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมเเละการดูเเลเอาใจใส่จากพ่อเเม่ ซึ่งจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือกันทั้งครอบครัวเเละได้รับคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินคำว่า IQ (Intelligence Quotient) , EQ (Emotional Quotient) , AQ (Adversity Quotient) หรือ  CQ (Creativity Quotient) มามากมายหลายคำนิยามในการพัฒนาจิตใจของเด็กเเละเยาวชนวันนี้เราจะมารู้จักกับ RQ คำที่เพิ่งคิดขึ้นมาใหม่ในปัจจุบันย่อมาจาก Resilience Quotient จาก “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ผู้อำนวยการศูนย์ Samitivej Parenting Center อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากสหราชอาณาจักร ในงานเปิด Samitivej Parenting Center เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมานพ.ธีระเกียรติ อธิบายว่า RQ  เป็นคำนิยามในช่วงที่เราเจอสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจ เหตุการณ์ร้ายเเรง เเต่เราก็สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ เหมือนคนที่ “ล้มเเล้วลุก” ได้ ซึ่งสะท้อนภาพอะไรได้หลายอย่างว่าเด็กที่จิตใจเเข็งเเกร่งนั้น ข้างในต้องมี “Growth Mindset” กรอบความคิดหรือทัศนคติ แนวคิดแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า ประกอบรวมกับ EF ซึ่งย่อมาจาก Executive Function ความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ดังนั้นการมี RQ จึงผสมกันทั้งการมี Growth Mindset เเละ EF ซึ่งเด็กทุกคนสามารถมีได้ หากได้รับการดูเเลอบรมที่ดี พ่อเเม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจในเรื่องนี้อย่างมาก“สุขภาพจิตของเด็กเป็นปัญหาสำคัญ เด็กบางคนเริ่มตั้งแต่ ขี้กลัว อ่อนไหว ดื้อ และลุกลามไปจนถึงการฆ่าตัวตาย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเด็กในการปรับตัวต่อสภาวะที่ยากลำบาก หรือความยืดหยุ่นในการปรับตัวลดลง  อย่างไรก็ตาม ความเเกร่งในจิตใจไม่ใช่อยู่ดีๆ จะผุดขึ้นมาต้องสะสมมาเรื่อยๆ สภาพเเวดล้อมก็มีส่วน โดยเด็กที่โตในสังคมเมืองมีอัตราการมีปัญหาทางจิตใจมากกว่าเด็กต่างจังหวัด 2 เท่า ไม่ใช่เเค่ในไทยเเต่เป็นกันทั่วโลก”นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่ของพ่อเเม่ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตทางจิตใจของบุตรหลาน เปรียบเทียบกับการที่คนเรากว่าจะเชี่ยวชาญในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง จะต้องผ่านการเทรนนิ่ง สั่งสมประสบการณ์นานนับ 10 ปี เเต่การได้มาเป็นพ่อเเม่ของคนๆหนึ่ง พอลูกคลอดออกมาเรากลายเป็นพ่อเเม่เลย จึงไม่ค่อยรู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรดี ส่วนใหญ่ยังเลี้ยง “ตามความรู้สึก” เลี้ยงตามที่ตัวเองถูกเลี้ยงมา หรือเลี้ยงตามพรรคพวก

“ผมอยากให้มีการดูเเลสุขภาพจิตเด็กอย่างเป็นระบบในเมืองไทย ส่งต่อระบบความรู้ไปให้จิตแพทย์รุ่นน้องเพื่อช่วยเหลือคนในสังคม ถึงเวลาที่ทุกคนต้องมาเรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างให้เด็กมีจิตใจที่เเข็งเเกร่งอย่างแท้จริง รู้จักองค์ความรู้ที่จะให้เข้าใจสุขภาพจิตเด็กมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างครอบครัวที่อบอุ่น โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน พ่อแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมี EF มากขึ้นตามลูกด้วย ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถเปลี่ยนได้”
สำหรับโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีวิสัยทัศน์ที่จะดูแลเด็กแบบ Total Health Solution หรือการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ กว่า 150 คน จึงได้จัดตั้ง Samitivej Parenting Center ขึ้น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้สุขภาพจิตเด็กเเละการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
โดยจะดูแลเด็กในขั้น  Advanced   ที่ไม่ใช่เพียงแค่รักษาอาการต่างๆ ของเด็ก แต่เป็นศูนย์ในการรวมพลังของแพทย์และพ่อแม่ผู้ปกครองในการเรียนรู้วิธีรับมือกับลูกอย่างมีแบบแผนถูกต้อง และตรงจุด ตัวอย่างเช่น เด็กต่ำกว่าอายุ 6 ขวบที่มีปัญหาในเรื่องดื้อหรือสมาธิสั้น จะไม่แนะนำให้ใช้ยา  พ่อแม่เป็นยาที่ดีที่สุดในการปรับพฤติกรรมของลูก  เด็กมีความเก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบในยุคนี้แลัว แต่เด็กต้องเติบโตมาด้วยคุณภาพทางอารมณ์ด้วยในระยะแรก Samitivej Parenting Center จะเปิดโปรแกรมสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อการรักษาเด็กสมาธิสั้น (ADHD) และเด็กดื้อ(ODD) อายุระหว่าง 2-12 ปี โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีโครงสร้างลักษณะเฉพาะและมีแบบแผนชัดเจนอิงตาแนวทางของ Russell A. Barkley ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมาธิระดับโลก โดยพ่อแม่และผู้ปกครองจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เรื่องโรคสมาธิสั้น และพฤติกรรมดื้อต่อต้าน อย่างครบวงจร อาทิ ฝึกสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก ฝึกการออกคำสั่งแบบมีประสิทธิภาพ ฝึกทักษะการปรับพฤติกรรม การเลือกโรงเรียน การรักษาโรคสมาธิสั้น เป็นต้น
“จากผลวิจัยซึ่งทำต่อเนื่องระยะยาวพบว่า เด็กที่มีความสามารถรอได้เมื่อตอน 4 ขวบ เมื่อมีอายุมากขึ้นส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ดี และมีหน้าที่การงานดี มีรายได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการฝึกให้รอเป็นตั้งแต่เด็ก พ่อแม่จึงต้องฝึกฝน โดยต้องการเลือกสถานการณ์ให้ถูกต้อง ตามหลักพัฒนา 5 Point of EF intervention ได้แก่ Choose Situation – Change Situation – Choose Attention – Change Thoughts – Change Response พัฒนาไปพร้อมกับลูก เพราะถ้าจะเเก้ปัญหาจิตใจเด็ก เเต่ตราบใดที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังไม่ได้เรื่อง เเม้จะมีเทคนิควิเศษสุดก็จะไม่เปลี่ยน ดังนั้นจึงต้องทุ่มเทให้กับการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกก่อน แล้วค่อยไปสอนพ่อเเม่ว่าต้องจัดการกับลูกอย่างไร เเต่หลายครอบครัวมักไม่สนใจขั้นตอนพื้นฐานเหล่านี้ อยากกระโดดไปสเต็ปที่ 4-5 เลย แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา”นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ ได้แชร์ประสบการณ์ที่ได้โอกาสสัมภาษณ์ทีมหมูป่า ผู้รอดชีวิตทั้ง 13 คน โดยเป็นการเข้าไปพูดคุยเรื่องสภาพจิตใจ การเอาตัวรอด การปรับตัว การตัดสินใจเเล้วนำมาวิเคราะห์การก้าวผ่านในปัจจัยต่างๆ แบบไม่อิงเรื่องดราม่าและกระแสสังคมว่า หัวใจสำคัญคือทีมเวิร์ก มนุษย์เราอย่าเเก้ปัญหาคนเดียว เเละความเป็นผู้นำของโค้ชก็มีส่วนช่วยได้มาก เด็กต้องมีตัวอย่างเเละผู้นำที่ดี มีความคิดในเเง่ดีจึงทำให้มีความหวังเเละกำลังใจ เป็นพื้นฐานที่ดีมากของสุขภาพจิตใจเด็ก อีกทั้งการเล่นกีฬาก็มีส่วนในการพัฒนา EF เเละ RQ อย่างมาก ซึ่งถ้ามองถึงสังคมปัจจุบัน เด็กในเมืองกรุง อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์เช่นนั้น เนื่องด้วยการอยู่อาศัยเเละการดำรงชีวิตที่เร่งรีบและเป็นปัจเจกกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image