ททท.ต่อยอดโมโตจีพีปลุกไทยฮับท่องเที่ยวเชิงกีฬา งัด4กีฬายักษ์ดึงรายได้ทั่วโลกดันเศรษฐกิจชุมชนโต

ความสำเร็จของการยกระดับไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (SPORT TOURISM ) ในยุค “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกรทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยใช้การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขัน “โมโตจีพี เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2019 รายการ พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2019” ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์  ระหว่าง 4-6 ตุลาคม 2562 โดยมีทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมชมกว่า 2 แสนคน สร้างรายได้กระจายสู่อีสานใต้เกินกว่า 3,100 ล้านบาท

@รมว.พิพัฒน์แจ้งเกิดเมืองกีฬาเพื่อท่องเที่ยวชุมชน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกรทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การแข่งขันโมโตจีพีครั้งนี้ได้ตอกย้ำให้ทั่วโลกรู้ถึงศักยภาพของบุรีรัมย์มีความพร้อมจัดมหกรรมกีฬาอินเตอร์พร้อมจะก้าวเป็นเมืองการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (SPORT TOURISM CITY) โดยปีนี้ได้ลงนามปราศหลักเกณฑ์การคัดเลือกเมืองกีฬา ฉบับปรับปรุงไข พ.ศ.2562 เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560-2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 4 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเมืองกีฬาขึ้นเพื่อนำร่องสร้างเมืองกีฬาให้ได้ 14 เมือง โดยจะใช้ “บุรีรัมย์ โมเดล” เป็นต้นแบบเพื่อปูพรมทำ “เมืองกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว : SPORT TOURISM CITY” และนับจากนี้เป็นต้นไปจะต้องให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล 2 องค์กร ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำงานผสมผสานยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เป็นเนื้อเดียวกัน

Advertisement

ส่วนการจัดการแข่งขันโมโตจีพี 2019 ที่บุรีรัมย์ นั้นสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยเฉพาะสถานที่พักในท้องถิ่นอย่าง “โฮมสเตย์” ของชาวบ้าน มีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวหันไปเลือกพักโฮมสเตย์ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมที่พักระดับท้องถิ่นโฮมสเตย์ ขณะนี้ทั่วประเทศจดทะเบียนถูกต้องแล้วกว่า 300 แห่ง

@ผู้ว่าฯททท.ลุยอีสานทุกสำนักงานต่อยอด-เพิ่มรายได้

ดร.ยุทศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า โดยภาพรวมช่วงการแข่งขันโมโตจีพี ระหว่าง 4-6 ตุลาคม 2562 นั้น ททท.ได้วางแผนการขายท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพราะยอดจองเข้าพักในจังหวัดจัดงานมีสูงถึง 300 % จึงมอบหมายให้ ททท.สำนักงานต่าง ๆ รอบพื้นที่ภูมิภาคภาคอีสานขยายที่พักเพื่อให้บริการรองรับผู้เข้าชมงานไปยังสุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น มีคนจองพักเกินกว่า 70 % และทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยง สร้างรายได้เพิ่ม ทำให้ชุมชนต่าง ๆ มีความตื่นตัวต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่อย่าง แหล่งดูนกกะเรียนพันธุ์ไทย บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ควบคู่การโปรโมตการท่องเที่ยววิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชนโฮมสเตย์ และการแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าภูมิปัญญาทั้งผ้าไทย หัตถกรรม อาหารถิ่น และอื่น ๆ ที่จำลองมาไว้ภายใน ททท.พาวิลเลี่ยน ตลอดงาน โดยมีผู้เข้าชมการแข่งขันแวะเวียนเข้ามาในพาวิลเลี่ยนด้วย

@ททท.ดัน4กีฬาเป็นฮับเทรนนิ่ง-โค้ชชิ่งดึงทัวร์โลกเข้าไทย

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า ได้ใช้โอกาสช่วงโมโตจีพี นำนักแข่งดังของโลกอย่าง ฮอร์เก ลอเรนโซ ยอดนักบิดสแปนิชจาก เรปโซล ฮอนด้า คาล ครัทช์โลว นักบิดอังกฤษจากแอลซีอาร์ ฮอนด้า และสมเกียรติ จันทรา ดาวรุ่งไทยวัย 20 ปี จาก อิเดมิตสึ ฮอนด้า ทีม เอเชีย ได้ร่วมกันถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาในกรุงเทพฯ กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงกีฬามอเตอร์สปอร์ตยอดนิยม “โมโตจีพี” เขาถึงแฟนคลับทั่วโลกรวมกว่า 800 ล้านคน

ส่วนการต่อยอดเมืองดาวรุ่งบุรีรัมย์โดยใช้โมโตจีพีปลุกตลาดท่องเที่ยวเชิงกีฬา ททท.พร้อมสนับสนุนการทำตลาดโดยขยายผลร่วมกับ กกท.ล่าสุดได้แนะนำให้ทางคณะที่ปรึกษาในการคัดเลือกเมืองกีฬาเพิ่มจุดแข็งการนำสนามกีฬามาพัฒนาเป็น “สเตเดี้ยม แคมป์” ตัวอย่าง “ธัญญะปุระ” สามารถทำเป็นสถานที่ฝึกอบรมหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการรองรับการท่องเที่ยวได้ หรือสนามกอล์ฟอัลไพน์ขยายสนามฟุตบอลรองรับการฝึกนักเตะเยาวชนด้วย

นายธเนศวร์กล่าวว่า ระหว่างการแข่งขันโมโตจีพี มีสื่อทั่วโลกญี่ปุ่น อังกฤษ เช็ค แอฟริกาใต้ จึงใช้โอกาสดังกล่าวนำเสนอกลยุทธ์การท่องเที่ยวเชิงกีฬา สร้างภาพจำใหม่จากการเน้นปริมาณ (mass tourism) เพิ่มจุดขายใหม่เข้าไปอีก 2 เรื่อง คือ 1.อาหารที่ไทยประสบความสำเร็จในการยกระดับร้านอาหารติดดาวมิชลินทั่วประเทศ 2.การท่องเที่ยวเชิงกีฬา ชี้ให้เห็นถึงความพยายามก้าวสู่ SPORT DESTINATION ดึงการแข่งขันระดับโลกเข้ามาจัดในไทยหลักๆ 4 ประเภท ได้แก่

2.1 การแข่งขันรถแข่งระดับโลกโมโตจีพี นำกีฬามาเป็นเครื่องมือกระตุ้นการท่องเที่ยว กลุ่มตลาดหลักยุโรป

2.2 การแข่งขันกอล์ฟรายการใหญ่ ททท.สนับสนุนการจัดฮอนด้า แอลพีจีเอ ทุกปี มีนักกอล์ฟเข้ามาจำนวนมาก โดยภาพรวมการท่องเที่ยวกีฬากอล์ฟจะมีลูกค้าหลัก ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ทั้งเอเชียและอาเซียน

2.3 มวยไทย ทางด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวของ ททท. ได้จัดกิจกรรมระดับนานาชาติ “ไหว้ครูมวยไทย” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี มีผู้สนใจสมัครมากขึ้นทุกปี ปี 2563 มีแนวคิดให้เตรียมจำลองการไหว้ครูมวยไทยไปไว้ในงาน ITB 2020 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมัน ซึ่งจะมีความเข้มและขลังไม่แพ้พระนครศรีอยุธยา แล้วชวนชาวต่างชาติทั่วโลกที่ชื่นชอบเข้ามรร่วมพิธี เพื่อเข้าถึงมวยไทยแล้วหาโอกาสมาเที่ยวเมืองไทยในโอกาสต่อไป

2.4 มาราธอน ไทยเตรียมจัด Bangkok Marathon 2020 เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ททท.เตรียมงบประมาณจัดยิ่งใหญ่เสริมภาพลักษณ์ประเทศให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเจาะตลาดหลักทั้งเอเชีย และยุโรป ต่างสนใจมาเพื่อฝึกฝนและเทรนการเล่นกีฬา ซึ่งเป็นเทรนด์มาแรงที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางของการเทรนนิ่งและโค้ชชิ่งกีฬา สามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านที่พักระยะยาว ด้านอาหาร และด้านกลุ่มตลาดครอบครัวที่ตามกันเข้ามาด้วย

โดย ททท.กำลังเล็งตลาดกลุ่มมาฝึกกีฬา เช่น อ่าวลึกลับ จ.พังงา เป็นแหล่งฝึกกีฬาเซิร์ฟที่ดีมาก ถึงแม้ไทยจะไม่ได้เหมาะจะแข่งวินเซิร์ฟแต่คลื่นลมที่ไม่แรงมาก กลับได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติกลุ่มเริ่มต้นเล่นเซิร์ฟ (surf beginner) หันมาใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ฝึกจำนวนมากขึ้น โดยเลือกพักโรงแรมหรูหรา ใช้จ่ายเงินสูง เป็นตลาดคุณภาพสำคัญและศักยภาพที่ดี

2.5 ไตรกีฬา และการปั่นจักรยาน โดยเฉพาะการปั่นจักรยานรายการ L’etape by Le Tour de France เดือนพฤศจิกายนนี้ที่จังหวัดพังงา ททท.สนับสนุนเงิน 5 ล้านบาท เป็นการแข่งขันปั่นจักรยานระดับโลกจัดโดย Le Tour de France รายการนี้จะเปิดให้มือสมัครเล่นเข้าร่วมแข่งขันความสามารถใกล้เคียงกับมืออาชีพระดับโลก ปี 2561 ก็มีนักกีฬาตามมาปั่นกว่า 1,000 คน ปี 2562 ยอดจองห้องพักในพังงาเกือบเต็มแล้ว ทำให้วันพักเฉลี่ยการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคใต้

นายธเนศวร์กล่าวว่า การจะประเมินผลกีฬาชนิดใดสามารถต่อยอดการท่องเที่ยวได้มากที่สุดนั้น หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้ง ททท.และ กกท. ต้องผนึกกำลังกันผลักดันให้ไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นำความพร้อมทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกมาบูรณาการ ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้งทางการศึกษาด้านกีฬา หรือสถาบันของ กกท.ยกระดับประเทศไทยเป็นสถานที่เทรนนิ่ง โค้ชชิ่ง และการแข่งขัน จึงจะเห็นผลสำเร็จ

นับจากนี้ “บุรีรัมย์ โมเดล” จะเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนประเทศไทยผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลาง (HUB) การท่องเที่ยวเชิงกีฬา กระจายรายได้ตรงถึงมือชุมชนอย่างแท้จริง

เรื่องและภาพโดย…เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน-บล็อกเกอร์#gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image