ทช. เชิญชวนประชาชนลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุจากโฟมและพลาสติก หวั่นเพิ่มปริมาณขยะในทะเล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ความสวยงามของทะเลไทยขึ้นชื่อติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในขณะเดียวกันประเทศของเราก็ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากด้วยเช่นกัน จากการเปิดเผยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้ว่าขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม หลอดพลาสติก เป็นต้น ถัดมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น ยังไม่รวมขยะอื่นๆ ที่พบได้ในทะเล เช่น ถุงพลาสติก ฝาน้ำ และเศษบุหรี่ ไม่เฉพาะแค่การท่องเที่ยวแต่รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน ชุมชน สถานประกอบการต่างๆ ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีขยะส่วนหนึ่งลงสู่ท้องทะเล ปัญหาขยะในทะเลไทยเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรายังขาดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ แต่หากกล่าวถึงขยะที่มาจากกิจกรรมบนบก กิจกรรมชายฝั่งและทางทะเล  สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะในแม่น้ำ ลำคลอง และสามารถไหลลงสู่ท้องทะเลได้นั้นก็คือ “การลอยกระทง” ถึงแม้ว่าเทศกาลดังกล่าวจะมีปีละครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะที่เกิดจากการลอยกระทงส่วนใหญ่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยสิ่งที่ตามมานั่นก็คือ ขยะจำนวนมหาศาล หลังจากเทศกาลลอยกระทงผ่านพ้นไป ได้ทิ้งร่องรอยของขยะที่ทับถมกันอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง สร้างมลภาวะทางน้ำเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าหลายหน่วยงานจะออกมารณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ แต่กระทงทั้งหมดสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นขยะที่ต้องนำไปกำจัดอยู่ดี โดยต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากในการจัดการเรื่องดังกล่าว เนื่องมาจากระยะเวลาย่อยสลายของกระทงแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกระทงที่ประดิษฐ์ขึ้นจากโฟมที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นฐานกระทง

รมว.ทส. กล่าวต่อว่า สำหรับประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2562 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน นี้ อยากเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศช่วยกันลดการใช้กระทงที่ทำจากพลาสติกและโฟม แล้วหันมาใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ และย่อยสลายได้ ไม่ทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย โดยจากสถิติในปี 2561 ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 841,327 ใบ เป็นกระทงวัสดุธรรมชาติ 796,444 ใบ และกระทงโฟม 44,883 ใบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินงานตาม Roadmap ของรัฐบาลในด้านการจัดการพลาสติก เพื่อลดและเลิกการใช้พลาสติกพร้อมทั้งนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในปี 2562 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (Oxo) และไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) ภายในปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก ส่วนปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งหมด 100%

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวง ทส. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการลด ละ เลิกใช้พลาสติกที่เกินความจำเป็น รวมทั้งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) ภายใต้โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เอกชน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสดทั่วประเทศ ที่มีการใช้ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จำนวน 47 แห่ง เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากบนบก และป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเล จึงได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่เร่งรัดให้ดำเนินการจัดการขยะพลาสติก โดยกำหนดเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป พร้อมกับให้ประชาชนใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.​ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “5นาทีในมือคือ​ 50​ ปีในทะเลไทย”  ในปี 2561 เฉพาะในกรุงเทพมหานครเก็บกระทงโฟมได้ 44,883 ใบ โฟมแตกตัวเป็นเม็ดโฟม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่อสรรพสัตว์ ย้อนกลับมาถึงมนุษย์ เม็ดโฟมจากกระทงของเราในวันนี้ยังอยู่ทำร้ายลูกหลานเราต่อไปอีก 50 ปี อย่าให้สิ่งที่เราหมายมั่นว่าจะขออภัยแม่คงคา กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายเจ้าพระยาและมหานทีทะเลไทยไปอีกแสนนาน

Advertisement

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทงในสมัยโบราณ​ กระทงที่ใช้ลอยนั้นล้วนทำมาจากวัสดุธรรมชาติ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มหันมาใช้กระทงที่ทำจากโฟม มีกลีบกระทงที่ทำจากกระดาษสีต่างๆ อัดเป็นจีบสวยงาม เนื่องจากมีน้ำหนักเบา หาง่าย และราคาไม่แพง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมานั้นก็ คือ การกำจัดยาก และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในขณะนี้หลายหน่วยงานได้หันมารณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้นำหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการอนุรักษ์ และดูแลการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจากปัญหาขยะบกที่จะก่อให้เกิดปัญหาในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง โดยขยะเหล่านั้นสามารถไหลลงสู่ทะเลได้ สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทางทะเล และสัตว์ทะเลหายาก จึงมีแนวคิดที่จะลดปัญหาการเกิดขยะใหม่จากเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ เพื่อรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ช่วยกันรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ในการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงใบตองหรือวัสดุธรรมชาติ แต่ไม่ควรใส่สีหรือตกแต่งกระทงด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น โรยกากเพชร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ รวมถึงแนะนำให้ลอยกระทงแบบ 1 คู่รัก 1 กระทง  1 ครอบครัว 1 กระทง และ 1 กลุ่ม 1 กระทง หรือการลอยกระทงแบบออนไลน์ ที่จะช่วยให้การลอยกระทงในปีนี้สร้างมลพิษได้น้อยที่สุด

นายโสภณ อธิบดี ทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น วันลอยกระทงปี 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงขอเชิญชวนและขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันใช้วัสดุธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งดการใช้วัสดุที่ทำจากโฟมหรือพลาสติก เพื่อลดปัญหามลพิษที่จะสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำในระยะยาว ด้วยแนวทางในการลอยกระทงที่ใช้หลักการ 3R เพื่อลดการใช้ หาวิธีการกำจัด หรือนำกลับมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย ใช้น้อย (Reduce) ลดขนาดของกระทงที่ใช้ ลดจำนวนชั้น และลดการตกแต่งให้น้อยลง เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร ช่วยลดปริมาณขยะ และลดจำนวนกระทง “1 ครอบครัว 1 กระทง” การใช้ซ้ำ (Reuse) โดยใช้วัสดุซ้ำหรือวัสดุที่เหลือใช้ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า และการแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) เป็นการนำกระทงที่เก็บรวบรวมมาใช้ประโยชน์ โดยกระทงจากวัสดุธรรมชาตินำมารวบรวมเพื่อใช้ในการหมักปุ๋ยได้ และยังเพิ่มการรณรงค์ให้ชุมชนใช้กระทงวัสดุแบบเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บและทำลาย รวมถึงลดปริมาณขยะจากบนบกที่จะไหลลงสู่ทะเล

อันก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

Advertisement

ในโอกาสนี้ ต้องขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) อดีตอธิบดี ทช. ที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานด้านการบริหารจัดการขยะทะเลจนประสบผลสำเร็จตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ตลอดจนมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และที่ขาดไม่ได้ ต้องขอขอบคุณข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่กรม ทช. ทุกท่าน รวมถึงอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ชาวประมง ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันเสียสละเวลาอันมีค่าเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ปราศจากขยะและมลพิษทางทะเล ให้สมกับที่ว่าทะเลไทยคือเมืองสวรรค์ สิ่งมหัศจรรย์อันดับต้นๆ ของโลก “นายโสภณ อธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้าย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image