“ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ” ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย ต้นแบบแห่งแรกในไทย

ถึงวันนี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้ว่า อีกเพียงปีกว่าๆ ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มสัดส่วนไปเป็นร้อยละ 28 ในปี 2574

รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้เดินหน้าขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ สังคมสูงอายุ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน สุขภาพ

ด้วยบทบาทหน้าที่แห่งการเป็น ‘โรงพยาบาลของแผ่นดิน’ ดูแลสุขภาพคนไทยอย่างครอบคลุมทุกช่วงวัย นอกจากจะมีการพัฒนาด้านการศึกษาและวิจัยเพื่อผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ยังได้ดำเนินการในเรื่องของ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนด้านนี้สำหรับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์

ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย และประธาน International Association of Gerontology and Geriatrics ภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย ได้อธิบายถึงลักษณะอาการในความหมายของการเป็น ผู้ป่วยสูงอายุว่า มี 5 ประการ (RAMPS) ได้แก่ Reduced Body Reserve พลังสำรองทางกายและสมองที่ลดลง จากที่เคยวิ่งรอบสนามฟุตบอลได้ก็ไม่ได้เหมือนเดิม Atypical Presentation อาการแสดงที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่น คนทั่วไปที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะถี่ แต่สำหรับคนไข้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน อาจจะมาด้วยอาการหกล้ม ไม่เดิน ไม่กินอาหาร พูดจาสับสน ปัสสาวะราด Multiple Pathology การมีหลายโรคในเวลาเดียวกัน ตามมาด้วย Polypharmacy ต้องกินยาเยอะ ทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย สุดท้ายคือ Social Adversity การเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัวที่มีผลต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างคุณตาวัย 85 ปีมีคนดูแลอายุ 65 ปี หากคนดูแลแข็งแรง คุณตาก็จะได้รับการดูแลที่ดี แต่ถ้าคนดูแลป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คุณตาก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

Advertisement

“ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องมีการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่แตกต่างไปจากผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งจะเป็นความชำนาญเชี่ยวชาญของทีมแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่มี 3 ภาควิชาทำงานร่วมกัน คือ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู นอกจากนี้เรายังมีคลินิกผู้สูงอายุอยู่ที่ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก ก่อตั้งในปี พ.ศ.2528 เป็นแห่งแรกของโรงเรียนแพทย์ ใช้หลักการประเมินแบบองค์รวม (Comprehensive Geriatric Assessment) ได้แก่ การประเมินด้านกายภาพ (Physical Assessment) การประเมินสุขภาพด้านจิต (Mental Assessment) เพื่อตรวจหาปัญหาสุขภาพจิตที่อาจกำลังซ่อนอยู่ เช่น โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม การประเมินด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Assessment) และการประเมินด้านความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (Functional Assessment) ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้สูงอายุมีโรคเรื้อรัง โรคเยอะ และไม่หายขาด”

การดูแลรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยอย่างถูกต้องตามหลักการเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับแนวคิด Active Ageing ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพทั้งด้านความสามารถ คุณค่า มีหลักประกันที่มั่นคงในการดำรงชีวิต และทำให้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม

ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการดูแลผู้ป่วยภายใต้กลุ่มเวชศาสตร์ผู้สูงอายุว่า จะต้องคำนึงถึง 2 ประเด็น ‘Health’ กับ ‘Social’ ควบคู่กันเสมอ ดังนั้น ขอบเขตของศาสตร์ด้านนี้จึงประกอบไปด้วย ด้านคลินิก ทั้งกายและจิตที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก เช่น มาโรงพยาบาลด้วยอาการเอะอะโวยวายซึ่งไม่ได้มีสาเหตุทางจิตเวช เพราะหลังจากเจาะตรวจน้ำตาลในเลือด ก็พบว่าเหลือเพียง 30 หน่วย เมื่อให้กลูโคสทางหลอดเลือดอาการดังกล่าวก็หายไป นี่เป็นตัวอย่างแสดงถึงอาการทางจิตที่มีสาเหตุมาจากทางร่างกาย

Advertisement

ในทางกลับกันสำหรับผู้ที่มีสาเหตุทางจิตแล้วส่งผลไปทางกายก็คือ การมาด้วยอาการน้ำหนักลดไปถึง 10 กิโลกรัมเพราะไม่รับประทานอาหาร แพทย์ตรวจสุขภาพภายนอกอย่างละเอียดแล้วก็ไม่เจออะไร แต่จากนั้นก็พบว่ามีโรคซึมเศร้าซ่อนอยู่ หลังกินยาต้านเศร้าไม่กี่สัปดาห์โรคทุเลาลง ก็กลับมารับประทานอาหารได้เกือบเหมือนคนปกติ

ด้านการฟื้นฟูบำบัด จากการที่มีอาการ Reduced Body Reserve กระบวนการรักษาจนหายจากบางโรคในผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีการทำฟื้นฟูสุขภาพตั้งแต่เป็นคนไข้วันแรก ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยมาตรการสามระดับ ตั้งแต่ก่อนเกิดโรค เช่น การฉีดวัคซีน 3 ตัวที่สำคัญ มี ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ บาดทะยัก การดำเนินชีวิตด้วยพฤติกรรมที่นำไปสู่การมีสุขภาพดี เช่น การหลีกเลี่ยงภาวะอ้วน ระดับที่สองคือการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะแรก และระดับที่สามคือการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน สุดท้ายคือ ด้านสังคม ซึ่งศาสตร์ด้านนี้ไม่เพียงดูแลคนไข้ ทีมสหสาขาวิชาชีพต้องให้ความสนใจผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุด้วย ตลอดจนการปรับสิ่งแวดล้อม การให้คำปรึกษาเพื่อเข้าถึงสวัสดิการต่างๆของรัฐที่ผู้สูงอายุพึงได้

และจากการที่โรงพยาบาลศิริราชดำเนินการในเรื่องของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ทางคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจึงมีดำริในการก่อตั้งสถาบันที่มุ่งเน้นในเรื่องของผู้สูงอายุโดยตรงซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีมาก่อน เหมือนอย่าง ‘National Center for Geriatrics and Gerontology’ ของประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้แผนบูรณาการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนได้รับความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับจังหวัดสมุทรสาคร

“เป็นที่มาของการจัดสร้าง ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ บนที่ดิน 25 ไร่ที่ได้รับบริจาคบริเวณถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดแคลน ก็คือ Intermediate Care ซึ่งเป็นการดูแลระยะกลางตามหลักทางวิชาการของเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เมื่อพ้นการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลันแล้วสามารถให้การดูแลแบบองค์รวมด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อเตรียมผู้ป่วยสูงอายุทั้งประเด็นด้านสุขภาพและสังคม ให้มีความพร้อมก่อนกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติที่บ้าน ลดระยะเวลาการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และสามารถป้องกันการกลับมาเจ็บป่วยซ้ำ หรือต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำซ้อนอีก”

รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวอีกว่า Intermediate Care เป็นการเตรียมความพร้อมให้ทั้งผู้ป่วย ญาติ รวมถึงชุมชนสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้อย่าง Active Ageing ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งก็เริ่มทำแล้ว แต่ก็ยังเน้นเพียงไม่กี่โรค เช่น โรคเส้นเลือดสมองตีบ อัมพาตจากการบาดเจ็บของไขสันหลัง แต่ Intermediate Care ของศูนย์แห่งนี้รองรับสำหรับทุกโรคของผู้สูงอายุ เมื่อรักษาพ้นจากระยะเฉียบพลันแล้ว ก่อนกลับบ้านจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

“ที่สำคัญคือศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ จะเป็นต้นแบบในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้ความมั่นใจและกำลังใจแก่สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย นำไปสู่การเผยแพร่ต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยอย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด”

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ’ ได้รับการสนับสนุนด้วยงบประมาณในระยะแรก 973 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 พร้อมกับเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนั้น และหากได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มในปี 2563 ก็อาจจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งสองระยะในระยะเวลาใกล้เคียงกันโอกาสนี้ ขอเชิญชวนคนไทยร่วมใจกันสร้างสถานที่ซึ่งจะเป็นศูนย์ต้นแบบแห่งการดูแลผู้สูงวัย ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนการก่อสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สมทบกองทุน โดยคลิกดูรายชื่อธนาคารและหมายเลขบัญชีได้ตาม QR Code นี้

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image