เกษตรพร้อมขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ในปีงบประมาณ 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร ยึดนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสำคัญในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรในระดับฐานราก ด้วยการส่งเสริมการผลิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ การสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนเกษตรกรและชุมชน การส่งเสริมงานเคหกิจเกษตรแก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนให้ดีขึ้นและเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ฯลฯ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการพัฒนา คือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มยุวเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน อาสาสมัครเกษตร เกษตรกรปราดเปรื่อง และเกษตรกรรุ่นใหม่

นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนกรมส่งเสริมการเกษตรจึงกำหนดและชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรสู่การปฏิบัติในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เขต และส่วนกลาง ผ่านโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการจัดการเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร (Core Team) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกรให้มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน จนถึงระดับประเทศ ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันภายในกลุ่ม องค์กร และชุมชน โดยใช้กลไกการบริหารจัดการกลุ่มในขั้นพื้นฐานไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย การเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้มีความสามารถในการแสวงหาข้อมูล การวิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางในการพัฒนาและการจัดการกับทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างชาญฉลาด รวมทั้งการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนฐานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image