กระบวนการยาแรงรับมือ ปรากฏการณ์ภัยแล้ง 2563-2564

ภัยแล้ง ถูกเป่าเสียจนเป็นปรากฏการณ์วิกฤติ ราวกับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ลองหวนกลับไปทบทวนความจำที่ไม่ยาวนานนัก ฤดูฝนปี 2562 ทุกหน่วยงานด้านน้ำโดยเฉพาะสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เฝ้าจับตามอง พร้อมเฝ้าเตือนถึงอาการไม่พึงปกติของสภาพภูมิอากาศของโลกและของไทย

ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2562) กรมอุตุนิยมวิทยาก็ออกข่าวพยากรณ์อากาศฤดูฝน ฝนมาล่าปลายเดือนพฤษภาคม และปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่กำลังอ่อน (Weak El Nino)

สุดท้าย ฝนน้อยจริง แถมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 17% โดยทิ้งช่วงนานราว 2 เดือน เริ่มตกจริงในเดือนกรกฎาคม 2562 ถ้าปลายฤดูฝนไม่มีพายุโพดุลเข้ามาเติม ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาแล้ง 2562/2563 หนักหน่วงกว่านี้

Advertisement

“สทนช. ส่งสัญญาณเตือนครั้งใหญ่อย่างน้อย 2 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคมว่า ฝนน้อย ปริมาณน้ำน้อย ให้ทุกเขื่อนพยายามเก็บน้ำทุกหยดไว้ให้ได้มากที่สุด ดูตัวเลขน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมีจำนวนมากมีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุอ่าง” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ย้อนกลับไปฤดูฝน 2562 ที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่ได้กี่เดือน

ว่ากันที่จริง ปัญหาน้ำน้อยจนพัฒนาเป็นภัยแล้ง รับรู้กันดีในช่วงฤดูฝน แต่พอห่างออกมาพักเดียว ความทรงจำของผู้คนก็เลือนลาง ภัยแล้งเป็นผลจากฤดูฝนทั้งสิ้น ซึ่งในปี 2562 เกิดปรากฏการณ์แล้งกลางฤดูฝน จากฝนทิ้งช่วงนาน ต้องระดมทำฝนหลวงมากกว่า 5,000 เที่ยวบิน เพื่อช่วยเติมน้ำ นอกเหนือจากน้ำฝนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

“สิ่งที่เราต้องทำ คือทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านน้ำในทิศทางเดียวกัน ช่วยให้ประชาชนเห็นภาพรวม และเข้าใจสถานการณ์น้ำ ต่อไปก็คือการติดตามกำกับหน่วยงานต่างๆ ว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะสั้น กระทั่งในระยะต่อไปอย่างไร”

Advertisement

สทนช. และทีมงานโฆษกรัฐบาลประชุมร่วมกับหน่วยประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงาน ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำและการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน หลังจัดตั้งคณะอำนวยการน้ำแห่งชาติ เมื่อ 10 มกราคม 2563 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ เลขาธิการ สทนช. เป็นรองผู้อำนวยการและ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นเลขานุการ

การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2562/2563 รัฐบาลจึงมุ่งที่จัดหาน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่เสี่ยง 40-50 จังหวัด ผ่านมติ ครม. และการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการป้องกันมากกว่าแก้ไขภายหลัง แม้จะไม่มีน้ำพอสำหรับทุกภาคส่วน อย่างเช่น ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น

กลไกที่ต้องเร่งให้การแก้ไขเริ่มได้เร็วขึ้นคืองบประมาณ ซึ่งรัฐบาลจัดงบกลางไว้แล้ว แต่ยังต่างหน่วยต่างทำยังไม่สอดประสานในทิศทางเดียวกัน เหมือนเล่นดนตรีคนละคีย์ นานวันเข้า น้ำจะยิ่งขาดแคลนมากขึ้น ทุกหน่วยต้องร่วมมือกันมากขึ้น โดยเฉพาะยังต้องดักปัญหาต่อเนื่องจากฤดูแล้งคือฤดูฝนที่กรมอุตนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า จะมาช้าและน้อย จะเป็นปัญหาแล้งกลางฤดูฝนอีกรอบเหมือนปี 2562

“รัฐบาลจึงเตรียมระดมโครงการจากท้องถิ่นและจากส่วนราชการ ทั้งจากงบปี 2563 และอาจขอเพิ่มให้เริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหรือฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีมากกว่า 1 แสนแห่งให้ทันรับฤดูฝนปี 2563 นี้” ดร.สมเกียรติกล่าว

นอกจากนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก รัฐบาลยังเร่งรัดโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและชุดของโครงการขนาดเล็ก สำหรับวางรากฐานในงบประมาณปี 2564

“ถ้างบประมาณไม่พอก็ต้องใช้วิธีกู้เงินมาพัฒนาโครงการ  เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)” เลขาธิการ สทนช. กล่าวทิ้งท้าย

หากใช้รูปรอยการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ มุ่งแต่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาน้ำจะเกิดขึ้นทุกฤดู ไม่ว่าฤดูฝนหรือฤดูแล้ง สร้างความหวั่นไหวให้ประชาชนที่เฝ้ามองการแก้ไขปัญหาน้ำของรัฐบาลไปในตัว ยาแรงครั้งนี้ น่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำอีกมิติหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image