กฤษฎีกา “ยกเครื่อง” การบังคับทางปกครองให้มีประสิทธิภาพ

การบังคับทางปกครองของหน่วยงานของรัฐเป็นเรื่องที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งทางปกครองให้บุคคลชำระเงินในเรื่องต่าง ๆ และต้องบังคับชำระหนี้ มักจะประสบปัญหา ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง เนื่องจากมีข้อขัดข้องในการสืบหาทรัพย์สิน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน ทำให้ในแต่ละปีมีหนี้สูญ เป็นเงินจำนวนมหาศาล เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้ยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบังคับทางปกครองใหม่ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒กฎหมายใหม่ได้ปรับปรุงกระบวนการบังคับทางปกครองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในขั้นตอนการสืบหาทรัพย์สิน หน่วยงานของรัฐมีอำนาจสอบถามสถาบันการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และหน่วยงานอื่น ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ต้องชำระเงินตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานที่สืบหาทรัพย์สิน มิฉะนั้น จะมีความผิดอาญา นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐยังขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการสืบหาทรัพย์สินแทนได้ รวมทั้งจ้างเอกชนให้สืบหาทรัพย์สินแทนในกรณีที่เงินที่ต้องชำระมีจำนวนสองล้านบาทขึ้นไป ส่วนในขั้นตอนการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน จะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ให้เป็นที่ชัดเจน เพื่อที่หน่วยงานของรัฐจะได้ดำเนินการด้วยความมั่นใจ หรือหากหน่วยงานใดไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการเอง ก็สามารถขอศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีซึ่งเป็น “มืออาชีพ” ในการบังคับชำระหนี้ ให้ดำเนินการแทนได้    ถ้าคำสั่งทางปกครองให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว ซึ่งปัจจุบันกรมบังคับคดีได้ตั้ง “สำนักงานบังคับทางปกครอง” เป็นส่วนงานที่รับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง โดยหน่วยงานของรัฐที่ขอให้กรมบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ ได้แก่ ส่วนราชการ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่สำหรับหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน หากประสงค์จะใช้บริการกรมบังคับคดี ก็ต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการตรากฎกระทรวงกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายนี้เป็นการเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์อื่น ๆ เกี่ยวกับการบังคับทางปกครอง เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นระบบและเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดกรอบระยะเวลาในการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจบังคับทางปกครองต่อไปได้ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการ

กระบวนการบังคับทางปกครองที่ “ยกเครื่องใหม่” นี้ อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นชินสำหรับหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย หากหน่วยงานใดมีข้อสงสัยในการดำเนินการตามกฎหมาย สามารถติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image