ยูนิลีเวอร์ จับมือสภาอุตฯ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดประชุมระดมสมอง พร้อมด้วยผู้แทนกว่า 32 องค์กร หาแนวทางผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมเสนอผลการประชุมต่อคณะกรรมาธิการธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

4 กรกฎาคม 2559 – ยูนิลีเวอร์ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และผู้แทนจากภาคีองค์กร ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม รวม 32 องค์กร ร่วมประชุมระดมความเห็น “ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย” หารือทางออกลดอุปสรรค “ธุรกิจที่ยั่งยืน” พร้อมเร่งสร้างกลไกความร่วมมือใหม่ กระตุ้นธุรกิจรับมือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

หลังการประกาศใช้ “เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ” (Sustainable Development Goals: SDGs) และการรับรองข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ (COP21) จากภาคีสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ทำให้ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นความท้าทายใหม่ของทุกภาคส่วนที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2573 ยูนิลีเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงร่วมจัดประชุมระดมความคิดเห็น “ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและยุติความยากจน “Mobilizing Collection Action” to achieve the SDGs of a “ Zero Carbon , Zero Poverty” world  ที่จัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่ห้องดุสิตธานี ฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนและวิสัยทัศน์ของประเทศไทยภายใต้ประชารัฐ” ว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องการเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายที่สหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดไว้

“วันนี้ต้องขอบคุณ กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ที่มีบทบาทนำในภาคธุรกิจ ช่วยทำให้เกิดการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงแนวคิด ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกใหม่ ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต จึงอยากขอให้ทางยูนิลีเวอร์ ชักชวนบริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับรัฐบาลต่อไป”

Advertisement

นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า เวทีนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของภาคเอกชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ริเริ่มโดยยูนิลีเวอร์ระดับโลก ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจในแนวทางความยั่งยืน และมีความพยายามที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เกิดขึ้นจริงให้ได้ภายในปี 2573 โดยยูนิลีเวอร์ชักชวนภาคีที่มีความสนใจร่วมกันและจัดเวทีระดมสมองขึ้นในทุกประเทศที่ยูนิลีเวอร์ดำเนินธุรกิจ วัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความร่วมมือที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาต่างๆ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับการจัดประชุมครั้งนี้ขึ้นในประเทศไทย

จากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ภายใต้ “แผนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของยูนิลีเวอร์” (Unilever Sustainable Living Plan) ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ในขณะที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมมาตั้งแต่ปี 2553 วันนี้ แผนดังกล่าว มีความคืบหน้าอย่างดี แต่ในเวลาเดียวกันก็พบว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ท้าทายอย่างการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากผู้บริโภค ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ได้มีความร่วมมือ ระหว่าง ธุรกิจ ภาครัฐและภาคประชาสังคม

“เราเชื่อว่าการจะบรรลุเป้าหมายในปี 2573 จำเป็นต้องมีการทำงานประสานกันและความร่วมมือในรูปแบบใหม่ๆ ภาคธุรกิจสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจุดพลิกผัน โดยร่วมกันเปลี่ยนจากคำสัญญา เป็นการลงมือทำและนี่เป็นสิ่งที่เราหวังจะให้เกิดขึ้น” นางสุพัตรากล่าว

Advertisement

และกล่าวด้วยว่า ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้จะถูกรวบรวมและตีพิมพ์ในรายงานประจำปี พ.ศ.2560 ของคณะกรรมาธิการธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะรายงานข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมเวิร์ล อิโคโนมิค ฟอรั่ม ในต้นปี 2560 รวมทั้งนำเสนอผ่านคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรฐานในการทำอุตสาหกรรมในโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป จะเห็นได้จากมาตรฐานต่างๆ ในการทำธุรกิจ ที่เรียกร้องและบังคับให้เราต้องทำตามแนวปฏิบัติในด้านการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและการดำเนินการด้านพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายใหม่ในการพัฒนา ทั้ง  SDGs และการเรียกร้องให้ช่วยลดอุณหภูมิโลกร้อนลงไม่เกิน 2 องศา แนวโน้มจะยิ่งทำให้แรงกดดันเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

“การมาร่วมประชุมระดมความคิดเห็นนี้จะเป็นโอกาสที่จะได้มาทบทวนและหามาตราการร่วมกัน โดยเฉพาะโจทย์สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มธุรกิจที่ใช้โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนได้เพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่ง รวมไปถึงการพยายามแก้ไขหรือกำจัดอุปสรรคในการขับเคลื่อน” นายเจนกล่าว

 ด้านนางสาวบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า thaipublica.org กล่าวว่า ปัจจุบันในไทยมีการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งตั้งมาและเริ่มประชุมครั้งแรกในเดือนกันยายน 2558 มีหน่วยงานในภาครัฐเป็นคณะกรรมการหลัก การจัดเวทีในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมแบ่งปันบทเรียนและหาคำตอบบางอย่างในการลดอุปสรรคในการขับเคลื่อนแนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืนในไทย ข้อเสนอบางอย่างจึงอาจจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางของโรดแมปการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ในการประชุมมีองค์กรภาคีกว่า 32 องค์กร เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทเอกชนชั้นนำต่างๆ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม โดยการระดมความคิดเห็นจะมุ่งเน้นตอบโจทย์ รูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจ และการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image