‘กปน.’ เปลี่ยนท่อประปาใหม่ ลดการแตกรั่ว ลดการสูญเสียน้ำ ร่วมรักษาทรัพยากร “น้ำ” ให้มีใช้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ

รู้หรือไม่ ในระบบผลิตน้ำประปาจะมีน้ำสูญเสียเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุจำนวน เวลา หรือ สถานที่ได้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ต้องสูญเสียทรัพยากรน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์

การประปานครหลวง (กปน.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตั้งเป้าที่จะลดปริมาณน้ำสูญเสียให้เหลือ 19% ภายในปี 2564 โดยถือเป็นภารกิจหลักที่ให้ความสำคัญ มุ่งหวังที่จะสงวนทรัพยากรน้ำไม่ให้สูญเปล่า และร่วมรักษาน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอในภาวะที่ประสบกับภัยแล้ง

ในปี 2562 – 2564 กปน. มีแผนดำเนินการเปลี่ยนท่อประปาใหม่ระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร สำหรับท่อที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งการดำเนินการเปลี่ยนท่อประปาใหม่นี้จะช่วยลดอัตราการแตกรั่วของท่อประปาที่ใกล้ครบอายุการใช้งานได้มากขึ้น โดยปัจจุบัน ความคืบหน้าของแผนดำเนินการเปลี่ยนท่อประปาใหม่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 996 กิโลเมตร เหลืออีก 2,004 กิโลเมตร ที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งการประปานครหลวง มีขั้นตอนการวางท่อประปาใหม่ที่คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย ดังนี้

Advertisement

ขั้นตอนที่ 1 การประปานครหลวง จัดการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ดำเนินการเปลี่ยนท่อประปาใหม่ รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำไหลอ่อน หรือน้ำไม่ไหล

  • ทางเว็บไซต์ mwa.co.th
  • Facebook และ Twitter ชื่อ @MWAthailand
  • แอปพลิเคชัน MWA onMobile > พื้นที่น้ำไม่ไหล
  • ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่โดย การติดตั้งป้ายประกาศ และรถประชาสัมพันธ์

ขั้นตอนที่ 2 ขุดเปิดพื้นผิวขนาดเฉพาะที่จำเป็นในบริเวณที่จะวางท่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยสุด

ขั้นตอนที่ 3 ในกรณีที่ต้องวางท่อประปาใหม่ในพื้นที่เดิม การประปานครหลวงจะทำการวางท่อประปาชั่วคราวลอยเหนือพื้นดิน เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำประปาใช้ระหว่างการซ่อมท่อประปา

ขั้นตอนที่ 4 เมื่อดำเนินการวางท่อประปาใหม่แล้วเสร็จ การประปานครหลวง จะทำการซ่อมพื้นผิวชั่วคราวโดยกลบร่องที่ขุดไว้ชั่วคราวด้วยแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เพื่อเร่งคืนผิวถนนชั่วคราวให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้ทันที

ขั้นตอนที่ 5 ทดสอบแรงดันน้ำ และเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในเส้นท่อประปาใหม่ เป็นการล้างทำความสะอาดท่อประปาใหม่ ตามมาตรฐานน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan : WSP) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก่อนสูบจ่ายน้ำประปาสะอาด ปลอดภัย ไปถึงบ้านเรือนประชาชน ด้วยแรงดันน้ำที่ดีกว่าเดิม

ขั้นตอนที่ 6 หลังจากนั้น การประปานครหลวง จะส่งคืนพื้นที่ให้​กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับสภาพผิวการจราจรถาวรโดยเร็วที่สุด

ในภาวะที่ 22 จังหวัดของประเทศกำลังประสบภัยแล้ง (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563) ในภาวะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่ง มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 18,367 ล้านลบ.ม. หรือ 35% ของความจุน้ำใช้การ ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,322 ล้านลบ.ม. หรือ 18% ของความจุใช้การ (ข้อมูลจากกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563)

ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมในการลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ หากพบเห็นท่อประปาแตกรั่ว สามารถแจ้งผ่านช่องทางของกปน. ได้แก่ MWA onMobile ในหัวข้อแจ้งปัญหา, Line@ MWAthailand, MWA Call Center โทร. 1125 ตลอด 24 ชั่วโมง และสำนักงานประปาสาขาในพื้นที่ 18 สาขา เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ของกปน.เข้าซ่อมโดยด่วน ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งแล้ว การประปานครหลวงจะประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยคำนึงถึงความสำคัญของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image