ชป. คุมเข้มการใช้น้ำจากอ่างฯ น้ำน้อย ย้ำทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำให้พอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้

กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 วอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้จนถึงต้นฤดูฝนนี้

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(12 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 38,212 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,859 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,680 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,984 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (12 มี.ค. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 12,234 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 69 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯ ไปแล้วประมาณ 3,328 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 74 ของแผนฯ

ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ น้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งสิ้น 18 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ โดยจะเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

Advertisement

ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ( ณ วันที่ 11 มี.ค. 63) มีการทำนาปรังทั้งประเทศรวม 4.06 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้ว 1.75 ล้านไร่ และเก็บเกี่ยวแล้ว 1.20 ล้านไร่ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนส่งน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 1.96 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.88 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง มีปริมาณน้ำลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามแผนฯที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเน้นการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ด้านสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตลอดตามแนวแม่น้ำสายหลักต่างๆ ขอให้ใช้น้ำตามแผนหรือข้อกำหนดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้อย่างไม่ขาดแคลน

Advertisement

ทางด้าน การประปานครหลวง (กปน.) ยังคงร่วมมือกรมชลประทาน และกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องในการเดินหน้าปฏิบัติการ Water Hammer โดยปัจจุบันดำเนินการมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งแรกลิ่มความเค็มลงไปไกลกว่าสำแล ราว 5 กม. ครั้งที่ 2 ลงไปไกลกว่าสำแล ราว 10 กม. ครั้งที่ 3 ลงไปไกลกว่าสำแลเกือบ 14 กม. ครั้งที่ 4 ลงไปไกลกว่าสำแลเกือบ 11 กม. ครั้งที่ 5 ลงไปไกลกว่าสำแลเกือบ 9 กม. และครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 6 – 9 มีนาคม ที่ผ่านมา สามารถไล่ลิ่มความเค็มลงไปไกลกว่าสำแลประมาณ 14 กม. และจะดำเนินการครั้งที่ 7 ในวันที่ 19-22 มี.ค. ที่จะถึงนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image