กรมประมงรุก!! เปิดช่องทางตลาดสินค้าออนไลน์ หนุนช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ สู้วิกฤต โควิด – 19

กรมประมง ปั้นช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ เปิดซื้อ-ขายสินค้าผ่านระบบสั่งจองสัตว์น้ำออนไลน์  ภายใต้ชื่อ “Fisheries Shop” หนุนกระจายผลผลิตช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด –19  พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมอุดหนุนสัตว์น้ำที่สด สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ด้วยการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ได้อย่างสะดวก

นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด– 19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงไปยังต่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงการจำหน่ายสินค้าประมงภายในประเทศก็ลดลงอย่างฉับพลันจากมาตรการการควบคุมโรคของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง
สัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามปกติ

กรมประมงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้สนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น อาทิ Social media Website E-Commerce Online Shopping บน Platform ต่างๆ เพื่อกระจายผลผลิตและชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤตโควิด– 19 นอกจากนี้ กรมประมงยังได้เปิดระบบการสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ (Pre Order) ภายใต้ชื่อ “Fisheries Shop” ขึ้นอีกด้วย เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสด สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน จากเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าให้เป็นไปตามคำสั่งซื้อผ่านระบบฯ ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจทั้งในเรื่องคุณภาพและราคาของสินค้าด้วย

Advertisement

ขณะนี้กรมประมงได้มีการเปิดระบบฯ ดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถสมัครเข้าใช้งานได้ด้วยตนเองแล้ว โดยมีเงื่อนไข คือ จะต้องเป็นเกษตรกร หรือ กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบ1) และเป็นฟาร์มเลี้ยงที่ได้การรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) จาก
กรมประมง หรือ หน่วยงานอื่นที่อยู่ภายใต้การรับรองของกรมประมงเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้ามั่นใจได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่นำมาจำหน่ายนั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพทั้งด้านสุขอนามัย ซึ่งต้องสะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง อีกทั้งมีความสดใหม่ รสชาติดีเมื่อนำไปประกอบอาหาร  และราคาย่อมเยา ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ผ่าน “Fisheries Shop”  แล้วกว่า 10 ราย โดยสินค้าสัตว์น้ำที่จำหน่ายมีความหลากหลาย อาทิ กุ้งทะเล ปลากะพงขาว กุ้งก้ามกราม
ปลานิล ปลาดุก และปลาช่อน ฯลฯ ทั้งในรูปแบบสด และ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งกรมประมงเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ จะมีเกษตรกรที่สนใจทยอยสมัครเข้าใช้งานระบบเพื่อขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้ จะมีเกษตรกรจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สนใจสมัครเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำผ่านระบบฯ ไม่น้อยกว่า 70 – 80 ราย

อย่างไรก็ตาม จากการนำร่องทดลองระบบฯ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกุ้งทะเลและปลากะพงขาว จากฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) ของกรมประมง ได้ใช้งานระบบดังกล่าวด้วยตนเอง โดยใช้สถานที่กรมประมงเป็นจุดนัดรับและจำหน่ายสินค้า ปรากฏว่า ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีลูกค้าสนใจสั่งจองและซื้อสินค้าจำนวนมาก

Advertisement

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
โควิด – 19 จะเกิดขึ้นแค่เพียงระยะหนึ่ง เกษตรกรอาจจะได้รับผลกระทบหนักในช่วงเวลานี้ แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ความต้องการในการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน  ดังนั้น อยากให้เกษตรกรได้ปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ และเชื่อมั่นว่าการเพิ่มช่องทางตลาดผ่านระบบออนไลน์ จะสามารถช่วยกระจายผลผลิตและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สนใจ สามารถแจ้งความประสงค์ เพื่อสมัครเข้าใช้งานระบบการสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ Fisheries Shop ได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หรือ ติดต่อสอบถามที่กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทร. 0-2579-4496 ในวันและเวลาราชการ และสำหรับประชาชนที่สนใจอุดหนุนสินค้าประมงสามารถเลือกซื้อได้ทาง หน้าเว็บไซต์ของกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หรือ แสกน QR Code สั่งจองสินค้าและรับสินค้าได้ ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ในระบบ สอบถามรายละเอียดได้ที่ Call Center โทรศัพท์ 0-2562-0600 – 15 ในวันและเวลาราชการ

    QR Code สั่งจองสินค้า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image