TIJ เสนอมาตรการคุมประพฤติเข้มแทนจำคุก ลดนักโทษล้นคุก สกัด “โควิด-19”

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เนื่องด้วยปัญหา “นักโทษล้นเรือนจำ” ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคเพราะมีผู้ต้องขังอยู่กันอย่างหนาแน่นและแออัด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านสาธารณสุข หากเกิดโรคระบาดเข้าไปในเรือนจำแล้ว คาดว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ยากและอาจกระทบต่อสังคมภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปแบบการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เกือบทุกประเทศ เน้นไปที่มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม งดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก แต่เป็นเรื่องยากที่จะใช้มาตรการนี้กับผู้ต้องขังในประเทศไทย เพราะผู้ต้องขังแต่ละคนอยู่อย่างแออัด มีพื้นที่นอนเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ตร.ม. และต้องใช้เวลาในเรือนนอนร่วมกับผู้ต้องขังที่มีจำนวนมากกว่าศักยภาพในการรองรับของเรือนจำเป็นเวลาถึงวันละ 14 ชั่วโมง รวมทั้งยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ประกอบกับการไหลเวียนของผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขังพ้นโทษ ที่มีทุกวัน การหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือการเว้นระยะห่างจากผู้ต้องขังอื่นในพื้นที่ปิดและจำกัดเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

ล่าสุด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งเป็นหน้าด่านในการผลักดันการนำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) มาปรับใช้ในเรือนจำต่างๆ จึงมีข้อเสนอในการตัดวงจรการแพร่เชื้อโควิด-19 ในเรือนจำไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเรือนจำ” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเป็นแนวนโยบายสำคัญ ที่จะช่วยให้ไทยลดการติดเชื้อและการระบาดรุนแรง ทั้งภายในเรือนจำและการระบาดสู่สังคม และไม่ให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในเรือนจำได้

รายงานฉบับนี้  TIJ ได้เน้นให้ความสำคัญกับการลดจำนวนประชากรผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นอันดับแรก ด้วยการเสนอให้ใช้ “มาตรการที่มิใช่การคุมขัง” ซึ่งหมายรวมถึงการหลีกเลี่ยงการใช้โทษจำคุกในชั้นก่อนพิจารณาคดี การพิจารณาคดี และการปล่อยตัวผู้ต้องขังในกรณีที่เหมาะสม/ผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 อาทิ ผู้สูงวัย ผู้ป่วย และผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการกระทำผิดออกจากเรือนจำ

Advertisement

การใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกระยะสั้นสำหรับผู้กระทำผิดคดีไม่รุนแรง เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังที่จะเข้าสู่เรือนจำ โดยส่งเสริมให้มีการใช้วิธีการอื่นแทนการจำคุก เช่น การเรียกค่าปรับ การใช้มาตรการคุมประพฤติ การควบคุมตัวที่บ้าน และการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์

ข้อเสนอต่อมา คือ การพิจารณาใช้มาตรการฉุกเฉินโดยการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่ม ที่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นภัยต่อสังคมโดยให้พิจารณาจากลักษณะความผิด ความประพฤติ โทษคงเหลือ ตลอดจนภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การปล่อยตัวก่อนกำหนดการพักโทษ การปล่อยตัวชั่วคราว และการเปลี่ยนโทษจำคุกที่เหลือเป็นการควบคุมตัวที่บ้าน โดยมาตรการดังกล่าวควรดำเนินการอย่างรอบคอบ ตามความเหมาะสมและพิจารณาเป็นรายกรณี

ข้อเสนอนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ต้องขังระหว่างที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ซึ่งมีถึงร้อยละ 18 ของผู้ต้องขังทั้งหมดที่อยู่ในเรือนจำ และส่วนใหญ่ต้องถูกคุมขังเพราะไม่มีหลักทุนทรัพย์ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี หมายความว่า ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ยังไม่ควรเข้ามาอยู่ในเรือนจำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด

Advertisement

ส่วนกรณีอื่น ๆ คือ ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกน้อยกว่า 1 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงหากติดเชื้อโควิด-19 ผู้ต้องขังเด็ดขาดกลุ่มคดีที่มีความผิดไม่ร้ายแรง เช่น คดีความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ร.บ. การพนัน คดีลหุโทษฯลฯ

ในรายงานของ TIJ ยังเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในทุกกรณี เพื่อจัดให้มีระบบการติดตามและรายงานตัวของผู้ต้องขังที่มีประสิทธิภาพในกรณีการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข รวมถึงกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคัดกรองด้านสุขภาพก่อนการปล่อยตัว และให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาด การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพหลังพ้นโทษ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของสังคม

นอกจากนี้ ยังได้แนะให้เรือนจำมีมาตรการเฉพาะในการดูแลผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางในเรือนจำที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีการลดระยะเวลาที่ผู้ต้องขังต้องใช้ในเรือนนอนลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกับให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ต้องขังทุกคนอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความวิตกกังวล

รวมไปถึงจัดให้มีหน้ากากอนามัย ของใช้จำเป็น เช่น สบู่ ยาสระผม แก่ผู้ต้องขังทุกคนอย่างเพียงพอโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และลดการเคลื่อนย้ายประชากรโดยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังกับครอบครัวในรูปแบบของการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ซึ่งควรจะจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการติดต่อสื่อสารรูปแบบดังกล่าวให้เพียงพอ

ขณะเดียวกัน ก็ควรกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายในทุกเรือนจำเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยจัดพื้นที่แยกโรคที่เหมาะสม ควบคู่กับจัดให้มีการคัดกรองโรคเบื้องต้นก่อนการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำด้วย

จึงจะช่วยลดจำนวนนักโทษเกินความจุได้โดยเร็ว และลดโอกาสกระจายเชื้อโควิด-19 ไปสู่สังคม

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.tijthailand.org/public/files/highlight/Covid%20Report/TIJ-Covid19%20in%20prison.pdf?fbclid=IwAR3V8c3yoUcfKmfXLKPw8_kcHJMwz0BB3ip51g8huSksNbZfrCx9nukNJoA

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image