จีนอัพเดตทุกข้อมูล ‘วิธีการรักษา’ โรคโควิด-19 กับชาวโลก

ปักกิ่ง, 14 เม.ย. (ซินหัว) — จีนได้รายงานความคืบหน้าใหม่ๆ ในการวิจัยยาสำหรับโรคโควิด-19 ตลอดจนการบำบัดรักษาโรค โดยได้แบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จทางคลินิกแก่โลก พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศในการศึกษาโรคดังกล่าว

ซุนเอี้ยนหรง รองผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNCBD) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ว่าหนึ่งในความก้าวหน้าครั้งสำคัญคือการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ ซึ่งถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยมากกว่า 200 ราย ในนครอู่ฮั่น โดยผลการทดลองทางคลินิกชี้ว่าการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีความปลอดภัย ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการรักษาหายของผู้ป่วยอาการรุนแรง ด้วยการยับยั้งการอักเสบของปอดและฟื้นฟูการทำงานของระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยในช่วงพักฟื้น

นอกจากนี้จีนยังมีความก้าวหน้าในการรักษาโรคด้วยน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) และมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวและได้ผลดีมากกว่า 700 ราย โดยระยะเวลาการรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนักหรือไอซียูของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เฉลี่ยแล้วสั้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว จีนได้เปิดตัวโครงการต่างๆ ทั้งการวิจัยยา การบำบัดรักษา และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจำนวน 27 โครงการ และมีนักวิจัยจากโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และสถาบัน 152 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่อยู่ในแนวหน้าของศึกสู้โรคโควิด-19 ในนครอู่ฮั่นเข้าร่วมการวิจัยเหล่านี้มากกว่า 3,200 คน

Advertisement

ซุนระบุว่า มีตัวยาที่อยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกอยู่ 4 รายการ และมีการผนวกความสำเร็จในการวิจัยต่างๆ มากกว่า 10 รายการ ลงในแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคโควิด-19

ปัจจุบัน ยาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในจีน ได้แก่ ยาคลอโรควินฟอสเฟต (Chloroquine Phosphate) ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และยาแผนจีน (TCM) นอกจากยาแล้วคณะวิจัยของจีนจำนวนมากต่างมุ่งศึกษาการใช้สารภูมิต้านทานจากโคลนของเซลล์เดียว หรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) และมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้นักวิจัยชาวจีนยังได้พัฒนาอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) ของมนุษย์ จากน้ำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรักษาทางคลินิกของผู้ป่วยได้ ตลอดจนพัฒนาการป้องกันด้วยภูมิคุ้มกันที่ใช้ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ออกฤทธิ์ทันที (passive immune) ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย

Advertisement

ซุนกล่าวว่าจีนส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับยาที่ได้รับการพัฒนาโดยอิสระ และเร่งการวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับยาหลายตัว อาทิ ยาแผนจีน ยาแคร์รีมัยซิน (Carrimycin) ยาเตตราดริน (Tetrandrine) และยาอัซวูดีน (Azvudine)

จีนได้แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันและควบคุมโรคระบาดของตนแก่ทั่วโลกอย่างเร็วที่สุด โดยผลการวิจัยทางคลินิกของโรคโควิด-19 ของบรรดานักวิทยาศาสตร์จีน ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติหลายฉบับอย่างรวดเร็ว

สถิติฉบับไม่สมบูรณ์ระบุว่าคณะนักวิจัยจีนได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนและการอภิปรายเชิงวิชาการกับประเทศและภูมิภาคกว่า 140 แห่งในด้านความคืบหน้าของการวิจัยใหม่ๆ และประสบการณ์การประยุกต์ใช้ทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับยาแผนจีน ยาคลอโรควินฟอสเฟต ยาฟาริพิราเวียร์ ยาโทซิลีซูแมบ (Tocilizumab) การรักษาด้วยน้ำเลือดที่มีภูมิคุ้มกัน และการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งความสำเร็จทางการวิจัยของจีนจำนวนมากได้ถูกนำไปใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ

ซุนระบุว่าองค์การอนามัยโลกและบางประเทศกำลังดำเนินการวิจัยทางคลินิกกับยาคลอโรควินและยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ขณะที่หลายประเทศได้อนุมัติการใช้ยาและวิธีบำบัดรักษาหลายรายการที่จีนเคยใช้ อาทิ การรักษาด้วยน้ำเลือดที่มีภูมิคุ้มกัน และยาโทซิลีซูแมบ เพื่อการรักษาหรือการวิจัยทางคลินิก

ซุนกล่าวว่า การพัฒนายาและการบำบัดรักษาจำเป็นต้องอาศัยภูมิปัญญาจากทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ยาคลอโรควินฟอสเฟตถูกคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเมื่อ 80 ปีก่อน ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเมื่อ 20 ปีก่อน และยาแคร์รีมัยซินถูกคิดค้นขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเมื่อ 30 ปีก่อน พร้อมเผยว่าจีนกำลังขยายช่องทางความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน และมุ่งผลักดันการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image