TIJ ถกวิถีชีวิตใหม่สู้โควิด-19 ชี้แนวทาง “เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย”

“วิถีชีวิตใหม่” หรือ New Normal กำลังกลายเป็นศัพท์ใหม่ที่สังคมพูดถึงกันว่าคืออะไร เปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับการที่รัฐบาลยังมีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป ซึ่งส่งสัญญาณให้รู้ว่าเราทุกคนยังต้องอยู่กับโรคโควิด-19 กันไปอีกระยะหนึ่ง

ผู้คนจะทำมาหากินช่องทางไหนให้รู้สึกเหมือนได้ใช้ชีวิตแบบเดิมแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด ซึ่งในวงเสวนาของ “RoLD Forum” ผ่านแอปพลิเคชัน “ZOOM” คืนวันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2563 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภายใต้หัวข้อ “เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย” มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจว่า ขณะนี้ “คนเริ่มเหนื่อยล้ากับสถานการณ์ที่มีการปิดสถานบริการ มีการบังคับ มีกฎเกณฑ์มากมาย” และ การเปิดเมือง” คือสิ่งที่ผู้คนคาดหวังสูงมาก

แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกับโควิด-19ไปอีกนานหลายเดือนเช่นนี้ ถ้าเปิดเมืองเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้กลับคืนมาบางส่วน ย่อมแลกมาด้วย “ความเสี่ยง” ที่จะมีแหล่งแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลให้ประเทศไทย อาจจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ทำได้จริง เพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้

ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ได้เปิดวงเสวนาพร้อมมองว่า โควิด-19 ซึ่งจะอยู่กับเราไปอีกนาน จะเกิดมาตรฐานใหม่เป็น New Normal หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการและความร่วมมือของประชาชน ทั้งนี้ โรงพยาบาลไม่ควรเป็นด่านแรก ควรเป็นด่านสุดท้าย และทำให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นปราการด่านหน้า ถ้าจะเปิดเมืองและไม่กลับไปสู่จุดระบาดอีกครั้งได้ ปัจเจกแรกคือ “พฤติกรรม” ซึ่งตรงนี้คนไทยรู้วิธีปฏิบัติเป็นอย่างดีว่าต้องล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง ปัจเจกสอง “ชุมชนต้องเข้มแข็ง” ขณะนี้ชุมชนดูแลกันได้หรือไม่ และปัจเจกสาม มี “แอปพลิเคชัน” มาช่วยเพื่อให้รู้ว่าบริเวณใกล้ตัวจุดไหนเป็นจุดเสี่ยงและหาผู้ป่วยได้เร็ว หากทำทั้ง 3 เรื่องนี้ร่วมกันได้ และทำให้รอบคอบ ก็จะเปิดเมืองได้

Advertisement

ต่อจากนั้น ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาฯ ได้พูดคุยถึงพฤติกรรมและมาตรการ จากที่ได้ร่วมวิจัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของแต่ละครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบว่า หลังล็อคดาวน์ผ่านไป 2 สัปดาห์ คนเริ่มเหนื่อยและตั้งใจปฏิบัติตามมาตรการลดลง และมีความคาดหวังในการเปิดเมืองสูงมาก โดยมองว่าอย่างน้อย 1 พฤษภาคม หรือเลยกว่านั้นได้ไม่นาน ต้องมีมาตรการผ่อนปรนมาตรการบางอย่าง ถ้าเปิดเพียงบางจังหวัดจะมีโอกาสมากๆ ที่คนจะเคลื่อนย้ายไปอีกจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งยอมเสี่ยงออกไปหารายได้ แต่หากมีเงินแจก 5,000 บาท จะช่วยป้องกันการย้ายจังหวัดเพื่อไปหางานได้ ดังนั้น เปิดหรือไม่เปิดจังหวัดไหน มาตรการต้องชัดเจน สื่อสารข้อมูลสำคัญรายจังหวัด ก็จะช่วยให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและปฏิบัติตัวได้ดีขึ้น และที่สำคัญคนในจังหวัดนั้นๆ ต้องยินดีที่จะยอมรับกติกาของการเปลี่ยนแปลง พร้อมช่วยกันลดโอกาสเกิดโรคด้วย

ส่วนในมุมที่มองกันว่า “ชุมชนต้องเข้มแข็ง เป็นปราการด่านหน้า” รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกานต์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล คุยต่อถึงเรื่องนี้ว่า การจะเปิดเมืองได้อย่างปลอดภัย อยากให้มีกลุ่มคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยให้ใช้วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ใช้ทุนปัญญา ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ออกแบบระบบสาธารณสุขจนถึงครัวเรือน และคนที่ขับเคลื่อนไปถึงตรงนั้นได้ คืออาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ถ้าเราใช้ อสม. กว่าล้านคน ต่อไปอีกเดือนคงเหนื่อย ดังนั้นทางออก อาจมองคนกลุ่มอื่นที่มีจิตอาสา หรือกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายระบบสาธารณสุข เข้ามาช่วยกระจายทรัพยากรในการให้บริการต่างๆ

Advertisement

ขณะที่เรื่องแอปฯ ที่จะมาช่วยหนุนการเปิดเมือง สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หนึ่งในทีมผู้ผลักดันแอปฯ “หมอชนะ” ได้เล่าถึงจุดสำคัญของแอปฯ ตัวนี้ว่า กำลังเป็นซอฟแวร์ที่จะทำให้คนยืนระหว่าง 0 กับ 1 คือยืนอยู่ใน 0.5-0.7 ได้ ช่วยลดเรื่องปัญหาของสังคมและเปิดเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ด้านรัฐบาลก็จะจัดการและควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยแอปฯ ไม่บ่งบอกตัวตนของผู้ใช้ จะส่งเฉพาะโลเคชั่นแจ้งเตือน ซึ่งจะเป็นช่องทางให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ติดตามกลุ่มเสี่ยงโดยไม่ต้องเข้าไปใกล้

รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการหาเคส ติดตามคนที่ยังอยู่ในสถานะที่ยังไม่ป่วย ซึ่ง สุนิตย์ เชรษฐา นักกิจการเพื่อสังคมแถวหน้าของไทย ต่างมีข้อชี้แนะไปในทิศทางเดียวกันว่า หากเอา GPS มาลิงค์โอกาสที่จะป่วย จะทำให้คนแพนิกหรือไม่ แล้วคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนร้านค้าจะให้บริการหรือไม่ ทั้งนี้ ก็ถือเป็นจังหวะดีที่จะทำและพัฒนาใช้ในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้คนตื่นตระหนก ลดข่าวลวง ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาต่อเนื่อง เติมฟีเจอร์เข้าไปในระบบ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ควรทำให้กลุ่มเปราะบางดูแลตัวเองได้ด้วย และให้เข้าถึงเครื่องมือจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน

ชัดเจนว่าการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ และประเด็นที่ RoLD Forum หารือกันครั้งนี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำขนานใหญ่ เพราะหากวันนี้พฤติกรรมคนไทยการ์ดไม่ตก จัดระบบอย่างดี และมีระบบชุมชนที่ดี จะหมุนเฟืองให้พ้นวิกฤตินี้ได้เร็วและเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเดินหน้าได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image