1 ทศวรรษ ร่วมมือ สสส.-การเคหะแห่งชาติ ขับเคลื่อนโครงการพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะที่ยั่งยืน

สุขภาวะชุมชน หรือชุมชนที่มีความสุข ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามขับเคลื่อน โดยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินการในโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ในความดูแลของ กคช. ครบรอบ 10 ปี

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2553 สสส. เข้าไปขับเคลื่อนโครงการสุขภาวะชุมชนร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ในพื้นที่โครงการเคหะชุมชน 12 แห่ง ปัจจุบันขยายเป็น 52 แห่ง และเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแห่งสุขภาวะที่ยั่งยืนในปี 2562 – 2563 ครอบคลุม 21 พื้นที่ โดยเป็น 4 พื้นที่เดิมที่ยกระดับเป็นพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะทางกาย และอีก 17 เคหะชุมชนใหม่เน้นพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะของผู้สูงอายุในชุมชน

โครงการบ้านเอื้ออาทร สมุทรปราการ 1 เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ใกล้นิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ลักษณะเป็นอาคารชุด 85 อาคาร 3,813 หน่วย มีผู้อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 11,000 คน เป็นเป้าหมายชุมชนต้นแบบแห่งสุขภาวะที่ยั่งยืนของ สสส. และการเคหะแห่งชาติ

ที่นี่เป็นชุมชนใหญ่ มีคนวัยทำงาน เด็ก เยาวชน และมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด มุ่งเน้นกิจกรรมทางสุขภาพ จัดตั้งกลุ่มออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงวัย  และอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการ มีการทำอาหารสุขภาพ รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มอาชีพผลิตสินค้าบริโภคในชุมชนด้วย ทำให้สุขภาพของคนในชุมชนแข็งแรง

Advertisement

“ผลตอบรับออกมาดี ทำให้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคกลุ่ม NCDs พอได้ออกกำลังกาย และได้เรียนรู้หลักโภชนาการที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ก็มีสุขภาพดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น” นายโชคชัย โชติวัฒนะพิบูลย์ ประธานชุมชนบ้านเอื้ออาทรสมุทรปราการ 1 กล่าว

นอกจากนั้น ยังให้อาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมมือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมังกรทองออกตรวจสุขภาพและตรวจเยี่ยมผู้ป่วย และให้คำแนะนำชุมชนด้วย  “ก่อนที่ สสส. จะเข้ามา ทางชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มออกกำลังกายอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแอโรบิก กลุ่มบาสโลบ กลุ่มโยคะ กลุ่มตะกร้อ เป็นต้น และเมื่อ สสส. เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ออกกำลังกายเพิ่มเติม จึงได้มีการขยายกลุ่มกีฬาใหม่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มฟุตซอล กลุ่มฟุตบอล เป็นต้น ก็ทำให้การขับเคลื่อนสุขภาวะทางกายเข้มแข็งต่อเนื่องและยั่งยืนยิ่งขึ้น”

ความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากการทำงานภายในชุมชนแล้ว ยังทำงานประสานภาคีเครือข่าย เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมังกรทอง สโมสรโรตารี่สมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรบางปู เทศบาลตำบลแพรกษา และชุมชนรอบข้าง โดยทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปในตัว อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายให้ความช่วยเหลือระหว่างกันในหลายๆ ด้านอีกด้วยอีกชุมชนพื้นที่ต้นแบบแห่งสุขภาวะที่ยั่งยืนคือ โครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนนทบุรี เป็นอาคารชุด 5 ชั้น 40 อาคาร จำนวน 1,756 หน่วย มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 5,000 คน แม้จะเป็นชุมชนใหญ่ แต่ดำเนินกิจกรรมชุมชนในทุกมิติ ตั้งแต่สุขภาวะทางกาย ทางจิตใจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงความปลอดภัย และยังประสานงานภาคีเครือข่ายเช่นเดียวกัน

“ชุมชนเกิดใหม่ หากจะพัฒนาให้สำเร็จต้องหลอมรวมการบริหารจัดการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผู้นำชุมชนเข้มแข็งอย่างเดียวไม่พอ เพราะที่นี่มีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเพียง 9 คนเท่านั้น  จึงได้ขอให้ผู้อยู่อาศัยเลือกผู้นำที่อาศัยอยู่ในอาคารเดียวกันมา 1 คน รวมทั้งชุมชนจะมีผู้นำเพิ่มอีก 40 คน โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นที่ผู้อยู่อาศัยยอมรับ มีความเสียสละ มีจิตอาสา และมีความเป็นผู้นำ เพื่อจะได้เข้ามาช่วยทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ เราถึงจะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง ตามสโลแกนที่ว่า ร่วมคิด ร่วมทำ นำชุมชนสู่ความเจริญ” นายวราเทพ ภู่คงพันธ์ ประธานชุมชนบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) กล่าว

การทำงานในลักษณะการมีส่วนร่วมนี้  ยึดหลักความต้องการของคนส่วนมากถึงจะขับเคลื่อนได้สำเร็จ  เช่น สภาพแวดล้อม แต่ละอาคารมีพื้นที่ว่างของตนเอง ปล่อยทิ้งไว้รกร้าง แต่เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์ก็เอาพื้นที่ว่างมารวมกัน ทำเป็นสวนสุขภาพ หรือปลูกพืชผักสวนครัวแบ่งปันกันได้“สภาพแวดล้อมต้องเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่จะต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ 33 ตารางเมตร ซึ่งเราก็สามารถจัดสถานที่ออกกำลังให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่กับหลานเพียงลำพัง ซึ่งอาจจะเกิดความอึดอัดเมื่อต้องอยู่แต่ในห้อง ได้พาหลานลงมาเล่นที่สวนด้านล่าง ก็จะทำให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ร่างเริง สดใส และมีพัฒนาการที่สมวัย เนื่องจากเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี มีรั้วรอบขอบชิด มีความปลอดภัย และผู้สูงอายุก็จะรู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้น” นายวราเทพ กล่าว

เขากล่าวว่า ผลจากการทำงานร่วมกับการเคหะแห่งชาติ และ สสส. ทำให้ชุมชนที่นี่เข้มแข็งยั่งยืน เป็นต้นแบบทางด้านสุขภาวะ และถอดบทเรียนไปใช้กับชุมชนบ้านเอื้ออาทรอื่นๆ ซึ่งจังหวัดนนทบุรีมอบหมายให้เป็นโค้ชบ้านเอื้ออาทร นนทบุรี อีก 5 โครงการ ขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน ขณะนี้เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในชุมชนกันแล้ว “เหมือนเขาเรียนลัดใช้เวลา 1-2 ปี ในขณะที่เราต้องใช้เวลา 5-6 ปี”

นายวราเทพกล่าวว่า ความฝันที่อยากเห็นคือ สุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งนับวันมีจำนวนมากขึ้น ทำอย่างไรให้มีความสุข พออายุมาก ทุกคนหวังยึดชุมชนเป็นเรือนตาย

“เรามีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว ขอให้เปิดเต็มเวลาโดยไม่ต้องดูแลตลอด แต่เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาใช้สถานที่ ได้อยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรม พูดคุยกัน ไม่ใช่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ผู้สูงอายุก็จะมีความสุขมากขึ้น” นายวราเทพ กล่าว

สุขภาวะชุมชนคือสุขภาวะของสังคมและของประเทศ การทำโครงการพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะของ สสส. กับ การเคหะแห่งชาติ น่าจะตอบโจทย์ทางสังคมได้ดีระดับหนึ่งทีเดียว

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image