กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แจงแนวปฏิบัติงานสอบบัญชีสหกรณ์ เน้นควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เน้นควบคุมคุณภาพการตรวจสอบบัญชีให้มีความเข้มแข็ง เป็นมาตรฐานสากล พร้อมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เพื่อประโยชน์ต่อมวลสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกว่า 12 ล้านคนทั่วประเทศ

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เกษตรกร และประชาชน โดยการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ มีระบบบริหารจัดการด้านการเงิน การบัญชีที่โปร่งใสและเข้มแข็ง โดยมีภารกิจหนึ่งที่สำคัญ คือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง เป็นมาตรฐานสากล และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดอย่างตรงไปตรงมา ส่งผลประโยชน์สู่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งประเทศ ประมาณ 12,500,000 คน ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีผู้สอบบัญชีจำนวนทั้งสิ้น 756 คน ประกอบด้วยผู้สอบบัญชีที่เป็นข้าราชการของกรมฯ จำนวน 485 คน โดยผู้ที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชีจะต้องมีประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านงานสอบบัญชีไม่น้อยกว่า 4 ปี และเพื่อให้การบริหารงานสอบบัญชีสหกรณ์มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับขนาดของสหกรณ์ และเหมาะสมกับสถานการณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้มีการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือบุคคลอื่นเป็นผู้สอบบัญชีสหกรณ์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบบัญชี จำนวน 271 คน

อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการปฏิบัติงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีสหกรณ์จะปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงานสอบบัญชี ตั้งแต่กระบวนการวางแผนงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชี จะทำการศึกษาโครงสร้างธุรกิจ แหล่งเงินทุน ระเบียบ และการดำเนินงานของสหกรณ์ ก่อนการเข้าปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีทุกครั้ง เพื่อทำการประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีของแต่ละประเภทธุรกิจของสหกรณ์ แล้วนำมาจัดทำแผนการสอบบัญชีโดยรวม และแนวการสอบบัญชี เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์การตรวจสอบ วิธีการตรวจสอบ การกำหนดช่วงเวลาที่ต้องตรวจสอบ ด้านการปฏิบัติงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีเข้าตรวจสอบบัญชีระหว่างปี อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะเข้าตรวจสอบบัญชีระหว่างปีครั้งแรกก่อนวันสิ้นปีทางบัญชีไม่น้อยกว่า 4 เดือน หากพบว่ามีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาการทุจริต หรือมีข้อบกพร่อง ผู้สอบบัญชีจะวางแผนเข้าตรวจสอบบัญชีระหว่างปีทุกไตรมาส เพื่อติดตาม แก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์การตรวจสอบบัญชีประจำปี

Advertisement

กรณีผู้สอบบัญชีตรวจพบข้อสังเกตที่สหกรณ์ต้องปรับปรุงรายการบัญชี ผู้สอบบัญชีจะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการเพื่อชี้แจงพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขแก่คณะกรรมการดำเนินการภายหลังการปฏิบัติงานสอบบัญชีเสร็จสิ้นผู้สอบบัญชีจะทำรายงานการสอบบัญชีระหว่างปีและรายงานการสอบบัญชีประจำปี

ซึ่งการปฏิบัติงานแต่ละกระบวนการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้กำหนดให้มีการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตั้งแต่ ระดับผู้สอบบัญชี ระดับหัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ระดับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1-10 ระดับกองกำกับการสอบบัญชีสหกรณ์ และสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี เพื่อให้งานสอบบัญชีสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พ.ร.บ. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ระเบียบ คำแนะนำ และมาตรฐานการสอบบัญชี สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการตรวจสอบบัญชี สามารถนำผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชี ไปใช้ประโยชน์ ปรับปรุงการบริหารจัดการและอำนวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้สอบบัญชีพบข้อสังเกตจากการตรวจสอบด้านการเงินการบัญชีจะดำเนินการรายงาน ให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ยังรายงานข้อสังเกตที่ตรวจพบให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทราบอีกทางหนึ่งด้วย ในกรณีที่มีปัญหาการทุจริต หรือข้อร้องเรียนเกิดขึ้น   กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบข้อเท็จจริง และวางแผนเข้าตรวจสอบบัญชีระหว่างปีทุกไตรมาส พร้อมรายงานให้อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ทราบเป็นระยะ เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นให้สหกรณ์ตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบการควบคุมภายในที่ดีเพื่อเป็นการป้องปรามการทุจริต รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์เพื่อให้ผู้ตรวจสอบกิจการสามารถให้ข้อสังเกตจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจัดการและคณะกรรมการได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ที่สำคัญคือ การพัฒนาให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจ ในหลักการและวิธีการสหกรณ์ได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์และรับรู้ข้อมูลทางบัญชีสหกรณ์ทั้งภาพรวมและของตนเอง

“การตรวจสอบงบการเงินในปัจจุบัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชี ที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี และระเบียบที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด โดยกรมฯ ได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการงานสอบบัญชีทุกปีงบประมาณ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และให้ผู้สอบบัญชีถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน โดยใช้ในการตรวจสอบสหกรณ์ทุกประเภท จึงเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลจากการตรวจสอบเชื่อถือได้และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนด” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image