“เครือซีพี” ร่วมมือ”พม.”ขับเคลื่อนสร้างสังคมเสมอภาค แก้ไขปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(เครือซีพี) ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) แบ่งปันแนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในองค์กร ในฐานะที่เครือซีพีเป็นองค์กรต้นแบบในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่เครือซีพี ร่วมกับ พม. หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา รวม24 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์ “การสร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะตัวแทนเครือซีพี ได้ร่วมสร้างความตระหนักรู้และแบ่งปันแนวทางการดำเนินงานของเครือซีพี เพื่อสร้างต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของเครือซีพี ซึ่งมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในการประกอบกิจการของบริษัท รวมทั้งในห่วงโซ่อุปทาน

ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินงานผ่านการพัฒนาระบบการพัฒนาและฝึกอบรมผ่าน e-learning เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวนโยบายดังกล่าว โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลาย การไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงความแตกต่างทางเพศ และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศด้วย

Advertisement

ดร.เนติธรกล่าวว่า เครือซีพีได้ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ทุกกลุ่มธุรกิจของเครือฯ ดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ นโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน นโยบายด้านการเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด แนวปฏิบัติที่ดีด้านความหลากหลายและการอยู่ร่วมกัน ซึ่งล้วนเป็นนโยบายและข้อกำหนดในการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล

ดร.เนติธรกล่าวว่า ทั้งนี้ มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเมื่อประสบเรื่องการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด การคุกคามทางเพศ และการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม โดยระบุช่องทางการร้องเรียน และการบริหารจัดการกรณีตั้งแต่การรวบรวมข้อเท็จจริง กระบวนการสอบสวน การดำเนินการตามบทลงโทษ และการรายงานผล โดยผู้ร้องเรียนและผู้ถูกกระทำจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรการคุ้มครองตลอดกระบวนการ ตามข้อกำหนดในนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแส ซึ่งครอบคลุมการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด และการผิดจริยธรรม

“โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นโยบายการไม่เลิกจ้างงานของพนักงานกว่า 360,000 คน ถือว่าเป็นการส่งเสริมมาตรฐานความเป็นอยู่ไม่เพียงแต่ของพนักงานเอง แต่ยังรวมถึงครอบครัวของพนักงานด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายธุรกิจของเครือฯ นอกจากนี้ การบริหารจัดการของหน่วยธุรกิจของเครือฯ ที่สนับสนุนให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทานในวิกฤตครั้งนี้ เป็นการช่วยคู่ค้าให้คงความสามารถในการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยเหลือลูกจ้างของคู่ค้าอีกทางหนึ่งด้วย”ดร.เนติธรกล่าวว่า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image