น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ ‘อุดรธานี’ 1 ใน 10 จังหวัด บรรลุเป้าหมายปลูกผักสวนครัว 100%

“เมื่อเกิดโควิด-19 เราเกรงว่าพี่น้องประชาชนทั้ง 4-5 แสนครัวเรือนจะอดตามกระแสข่าว ซึ่งผมบอกเสมอว่าชาวอุดรฯ ต้องไม่อด ต้องมีผักกิน ดังนั้น ก็ต้องปลูกผักกินเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย เมื่อทุกบ้านทำ ก็ลดรายจ่ายได้ จึงมอบนโยบายให้ข้าราชการพร้อมบริจาคเงินเดือนส่วนหนึ่งเป็นงบซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก ขณะที่ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ก็ขายให้ในราคาถูก บวกกับพี่น้องประชาชนที่มีเมล็ดพันธุ์บริจาคเข้ามาเพิ่มเติม จากนั้นจึงเดินหน้าลงพื้นที่ไปเยี่ยมทุกอำเภอ ทุกตำบล ขยายผลอย่างรวดเร็ว เข้าเป้า 3 แสนกว่าครัวเรือนที่มีพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงพื้นที่ส่วนรวมของทุกหมู่บ้าน ติดตามผลอย่างจริงจัง ทำให้เราประสบความสำเร็จ ผ่านมาเกือบ 3 เดือน เราไม่อดแล้ว และเมื่อผ่าน 90 วันไปแล้ว ระยะต่อไปเราจะสร้างความยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยเพื่อเพิ่มรายได้” พ่อเมืองอุดรธานี สะท้อนประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องที่บรรลุเป้าหมายแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารครบทั้ง 494,498 ครัวเรือน โดย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี ใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนในจังหวัดอุดรธานีปลูกผักสวนครัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร  นายนิรัตน์ เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยพช. มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนปลูกผักในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อ พช. ประกาศคิกออฟโครงการดังกล่าว จึงขยายผลต่อโครงการ “อุดรธานีมีรัก ปลูกผักกินเอง” เริ่มต้นจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด สู่บ้านพักนายอำเภอ และพัฒนาการอำเภอทุกแห่ง และแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชฅผักสวนครัวสู่ชุมชน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประกาศเดินหน้าพร้อมเพรียงกันทั้งจังหวัด จนประสบความสำเร็จเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่ปลูกผักสวนครัวได้ 100% ทั้งที่เป็นจังหวัดใหญ่

ด้าน นายสฤษดิ์ อินทสิทธิ์ พัฒนาการอำเภอเมืองอุดรธานี กล่าวว่า เมื่อพ่อเมืองอุดรฯ มอบนโยบายการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการปลูกผักสวนครัว ทุกคนก็ปฏิบัติตาม และอีกหนึ่งบุคคลที่มีส่วนปลุกกระแสการปลูกผักสวนครัวในอุดรฯ ก็คือ นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้ถ่ายทอดนโยบายของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี พช. บวกรวมเข้ากับแนวคิดของผู้ว่าราชการจังหวัด มอบให้ข้าราชการสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี นำไปเผยแพร่และปฏิบัติ ซึ่งหมู่บ้านมอดินแดง เป็นหนึ่งหมู่บ้านใน ต.บ้านตาด อ.เมืองอุดรธานี ที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบของการปลูกผักสวนครัวครบทุกหลังคาเรือน และยังใช้พื้นที่รกร้างสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ของชุมชน ตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร นายอุดร อินทมล ผู้ใหญ่บ้าน มอดินแดง หมู่ 15 กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี ส่งพัฒนากรมาร่วมประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้าน พร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก อธิบายถึงความจำเป็นของการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และประโยชน์ของการมีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน เมื่อเกิดการกระตุ้นและได้รับความรู้เพิ่มเติม ก็ลงมือทำอย่างจริงจัง “ในช่วงแรกเราจะเน้นปลูกพืชระยะสั้นก่อน เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ต้นหอม เก็บผลผลิตได้ใน 15-30 วัน จากนั้นจึงขยายปลูกข่า ตะไคร้ และผักอื่นๆ ที่ใช้เวลาปลูกนานขึ้น ทยอยปลูกให้เต็มพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน บ้านมอดินแดงปลูกผักครบกว่าร้อยครัวเรือนแล้ว และยังมีแปลงผักสวนครัวส่วนกลางของชุมชนที่สามารถนำผลผลิตไปแบ่งปันให้ครัวเรือนที่ขาดแคลนและตัดเพื่อแบ่งขาย มีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน เป็นเงินที่จะนำไปขยายผลซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อแจกจ่ายชาวบ้านต่อไป หลังจาก 90 วันไปแล้ว เราจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนด้านอาหารในระยะยาว” ผู้ใหญ่อุดรสะท้อนความสำเร็จ นางดวงแก้ว นาสมปอง ชาวบ้านมอดินแดง กล่าวว่า “การปลูกผักสวนครัวมีประโยชน์มากในช่วงที่โควิด-19 เข้ามา ถึงแม้ในตัวเมืองจะปิดเมือง ปิดห้าง เราไม่ได้เดือดร้อนเพราะเรามีอาหารในบ้านของเรา มีผัก มีไข่ไก่ กบ ปลา ฯลฯ เราลดรายจ่ายได้จริง มีกินและยังเหลือกิน ได้ขายมีรายได้เข้ามา แม้จะไม่มาก แต่เราไม่เดือดร้อน ที่สำคัญการมีแปลงผักในชุมชน ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนดีขึ้น เด็กได้เล่นดินเล่นน้ำ ได้กินผักปลอดภัย พ่อแม่ก็ได้สอนให้ลูกปลูกเพื่อกิน” ภาพความสำเร็จของจังหวัดอุดรธานีไม่ได้เกิดภายในวันสองวันแต่เกิดจากความร่วมใจและแรงสามัคคี และลงมือทำด้วยหัวใจ ซึ่งสิ่งที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือ ประชาชนสามารถลดรายจ่ายได้จริง แบ่งปันเพื่อนบ้าน เกิดความรักความสามัคคี เอื้ออาทรต่อกัน หมู่บ้านเกิดความสงบสุข มั่นคง และเข้มแข็ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image