เทคโนโลยี ERCP และ LC วิถีทางรักษานิ่วในถุงและท่อน้ำดีที่ผ่าตัดจบภายในครั้งเดียว

พ.อ.รศ.นพ.ธัญญ์ อิงคะกุล ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้องโรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อย โดยมักในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในอายุตั้งแต่ 30-50 ปี หรือปัจจัยเสี่ยง 4F คือ Female พบมากในเพศหญิง Forty พบมากในวัย 40 ขึ้นไป Fatty พบมาในคนอ้วน และ Fertile มีบุตรหลายคน โดยนิ่วมี 2 ประเภท คือ นิ่วสี (Pigment stones) อันเกิดจากมีสารที่ไม่สมดุลในน้ำดี และ นิ่วไขมัน (Cholesterol stones) อันเกิดจากมีไขมันที่มากเกินไป และทำให้ขาดสมดุลจนตกตะกอนลงมาเป็นนิ่ว ซึ่งอาการของโรคนิ่งในถุงน้ำดีระยะเริ่มต้นอาจไม่ค่อยแสดงอาการมากนัก

“ในกลุ่มที่มีอาการคนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา คลื่นไส้อาเจียน มีไข้สูง หากก้อนนิ่วตกลงไปในท่อน้ำดีอาจะเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตันและมีอาการดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งในบางครั้งนิ่งในท่อน้ำดีอาจะเป็นสาเหตุของการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้”

Advertisement

แต่หากมีอาการปวดท้องหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง จุกเสียดแน่นท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาถึงลิ้นปี่ และอาจจะปวดรุนแรงจนทนไม่ไหว ปวดในลักษณะเช่นนี้หลายครั้ง อาจจะเป็นภาวะของถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่นิ่วตกลงไปในท่อน้ำดีแล้วทำให้เกิดภาวะท่อน้ำดีติดเชื้อหรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งถ้าติดเชื้อรุนแรง จนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

Advertisement

พ.อ.รศ.นพ.ธัญญ์ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีและมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย หรือในรายที่มีความซับซ้อนของโรค อาทิ โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน มีภาวะเหลืองหรือโรคท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน  และตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีด้วย แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาด้วยการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อน (ERCP) ร่วมกับการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (Laparoscopic Cholecystectomy หรือ LC)

“การรักษาภาวะนิ่วในท่อน้ำดีและนิ่วในถุงน้ำดีพร้อมกันโดยการส่องกล้องทางเดินน้ำดี (ERCP) และการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง (LC) ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจะเกิดขึ้นได้หากเว้นระยะในการรักษา เช่น การเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตันหรือท่อน้ำดีอักเสบซ้ำซ้อนในระหว่างรอผ่าตัด การใช้วิธี ERCP และ LC รักษาในผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในท่อน้ำดีร่วมกันได้ในครั้งเดียว ลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลและช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนลดลงเมื่อเทียบกับการรักษาแบบเว้นระยะ”

นพ.อรุณ ศิริปุณย์ อายุรแพทย์ด้านการส่องกล่องเพื่อการรักษา (Therapeutic endoscopy) ศูนย์โรงทางเดินอาหาร รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉับนิ่วในท่อน้ำดี ปัจจุบันแพทย์อาจใช้วิธีส่องกล้องอัลตราซาวนด์ผ่านระบบทางเดินอาหาร หรือ EUS (Endoscopic Ultrasound) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นรอยโรคที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผนังกระเพาะและลำไส้ รวมถึงมองเห็นอวัยวะอื่น ๆ ที่การส่องกล้องปกติอาจะไม่เห็น หากพบก้อนเนื้อขณะตรวจวินิจฉัย ก็สามารถใช้กล้องอัลตราซาวนด์ไกด์เจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะมีความแม่นยำในการเก็บชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาเซลล์ความผิดปกติ

ในขณะเดียวกันก็มีการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography) ที่จะใช้เมื่อผู้ป่วยมีภาวะท่อน้ำดีอุดตันหรือภาวะดีซ่าน

“กรณีที่พบนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี แพทย์จะทำการรักษาโดยใส่กล้องเข้าทางปาก เข้าไปในลำไส้เล็กผ่านท่อน้ำดีแล้วเกี่ยวนิ่วออกจากท่อน้ำดีให้ลงสู่ลำไส้เล็กและขับออกมาผ่านทางอุจจาระ แต่หากพบก้อนกดเบียดท่อน้ำดี ก็รักษาโดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณก้อนเพื่อส่งตรวจ และใส่ท่อระบายน้ำดีเพื่อลดอาการตัวเหลืองตาเหลือง”

อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ลดอาหารประเภทของทอด ของมัน เน้นรับประทานผักและปลาให้มากขึ้น หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี สังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image