มจพ. พร้อมเปิดเทอม ดึงบุคลากร-นักศึกษา เป็น อสม. เผยโควิด-19 ไม่เป็นอุปสรรค พบนักศึกษาใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 คน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เคาะวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 หลังโควิด-19 ระบาดจนต้องเลื่อนวันเปิดเทอมนักศึกษาระดับ ปวช. เป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม 2563  นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติและบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน วันที่ 3 สิงหาคม 2563 โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบผสมผสาน เฉลี่ยผ่านระบบออนไลน์ 80% และสอนในห้องเรียน 20% ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเข้มข้น

เมื่อวันพุธที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการและแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ว่า มจพ. เตรียมความพร้อมในหลายเรื่องและรักษามาตรการตาม สธ. อย่างเข้มข้น โดยมีโครงการต้นแบบ “อสม.มจพ.” หล่อหลอมบัณฑิตที่คิดเป็นทำเป็นโดยดึงนักศึกษากว่า 600 คน และบุคลากรกว่า 100 คน เข้ามามีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาของมหาวิทยาลัย พร้อมกับเชิญกรมควบคุมโรคมาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการดำเนินชีวิตแบบ “New Normal” เพื่อร่วมกันรักษามาตรการต่างๆ ตามที่ สธ. กำหนด ในช่วงที่มีการเปิดภาคเรียน

Advertisement

“อสม.มจพ.” จะเป็นหูเป็นตา ช่วยคัดกรองคนตั้งแต่จุดสำคัญ คือประตูเข้า-ออก ช่วยลดความแออัดในแต่ละจุด รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal การดูแลตัวเอง โดยเฉพาะให้ความรู้กับนักศึกษาใหม่ สำหรับจุดคัดกรองจะมีกล้องถ่ายภาพความร้อน เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กล้องวงจรปิดทั้งประตูหน้า และประตูหลังจะมีการแบ็คอัพข้อมูลเอาไว้อยู่ตลอดเวลา ส่วนโปรแกรม “ไทยชนะ” มจพ. ได้นำมาใช้บางส่วน เนื่องด้วยคณะและส่วนงานมีระบบคัดกรองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Google Form กล้องดิจิตอล การสแกนนิ้วมือของบุคลากรซึ่งจะทำให้รู้ว่าบุคคลนั้นอยู่จุดไหน เข้าออกเมื่อไร ควบคู่กันได้จัดให้มีคณะกรรมชุดโควิด-19 โดยมีหลายคณะและส่วนงานเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการของ สธ. และจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้มีใช้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ หากบุคคลที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้ามาใช้บริการ จะไม่ให้ผ่านจุดคัดกรองและไม่ให้บริการ

Advertisement

“มจพ. ยังใช้มาตรการตาม สธ. อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสถานที่ที่ให้บริการ โรงอาหาร ชุมชนภายนอก จุดคัดกรอง จุดล้างมือ โรงอาหารได้จัดทำป้ายไวนิลให้รู้ว่าขณะนี้มีมาตรการอะไรบ้าง ทำฉากกั้น เว้นระยะห่าง จำกัดคนนั่ง มี Mapping ให้รู้ว่าพื้นที่ตรงไหนของมหาวิทยาลัยสามารถนั่งพักได้ และให้กระจายกันใช้พื้นที่นั้นๆ”

นอกจากนี้ มจพ. ยังได้นำนวัตกรรมหน้ากากอนามัยชนิดผ้า เสริมแผ่นเส้นใยนาโน แจกจ่ายให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย กลุ่มเสี่ยง และโรงพยาบาล ล่าสุดก็ได้เตรียมเป็นชุด “Set box” ประกอบไปด้วย หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และสบู่ เพื่อแจกจ่ายให้กับบุคลากรในช่วงเปิดเทอมนี้ด้วย โดยหน้ากากอนามัยนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากหน้ากากอนามัยทั่วไปคือ มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นที่อนุภาคเล็กกว่า 0.5 ไมครอน ได้ถึง 96.55% จากการทดสอบก่อนผ่านแผ่นกรอง และหลังผ่านแผ่นกรอง ที่ใช้จริง save ได้ดีเยี่ยม เหมาะกับสถานการณ์เช่นนี้ที่หน้ากากอนามัยขาดแคลนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน มจพ. ยังได้นำนวัตกรรมที่สร้างจากองค์ความรู้ด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย ไปช่วยเหลือสังคมและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสู้ภัยโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น ตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีสำหรับฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบนหน้ากากอนามัย ตู้ตรวจความดันบวก-ลบ เตาเผาขยะปลอดเชื้อ และหุ่นยนต์แบ่งปัน  เป็นต้น

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน กล่าวเพิ่มเติมเรื่องแผนการเรียนการสอน ได้เตรียมความพร้อมระบบสารสนเทศ ระบบอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ โดยให้ผู้สอนหรือภาควิชาดูภาพรวมว่าจะสอนรูปแบบไหน แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้คือ “Pocket WiFi” โดยจัดให้มีทุกคณะและส่วนงาน

“ถ้าสอนออนไลน์ได้ 100% ทำเลย แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกเดียว เพราะเราเน้นในเรื่องของคุณภาพ มจพ. ยังรักษาความเป็น มจพ. วิศวกรมือเปื้อนอยู่ ยังต้องมีวิชาปฏิบัติ บางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็พยายามให้จัดการเรียนที่ยืดหยุ่น ถ้าเป็นวิชาที่ต้องปฏิบัติจริงๆ เป็นไปได้ให้ปรับเป็นเทอม 2 ผู้สอนต้องบริหารพื้นที่ในคลาสเรียนนั้นๆ อาจจะให้เรียนออนไลน์ 80% อีก 20% คงต้องบริหารจัดการส่วนที่จะต้องเข้ามาใช้ห้อง Lab ซึ่งอาจจะสลับกัน”

ดำเนินการอย่างรัดกุม ปรับให้เป็นไปตามแผนฯ 20 ปี

สำหรับช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงานวิจัย บางโครงการมีการขยายระยะเวลา มีการเยียวยานักศึกษา ทุนวิจัยมีมากขึ้น แต่โดยภาพรวม มจพ. ดำเนินการอย่างรัดกุม เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะ 20 ปี ครบทุกมิติอย่างรอบด้านเป็นตัวนำการขับเคลื่อน เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรมของโลก

“ไม่ได้มองโควิด-19 เป็นอุปสรรค มองว่าปรับเปลี่ยนไปในทางที่ Positive ในการบริหารจัดการบุคลากร การนำเทคโนโลยีกลับมาใช้ ในสายวิศวกรรมและเทคโนโลยี ทำให้เอาระบบสารสนเทศมาใช้เพื่อทำให้นักศึกษาเข้าใจในบทเรียน เข้าใจในศาสตร์วิศวกรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องทำ Lap ก็สามารถทำแบบจำลองได้ เช่น การประกอบชิ้นส่วน การทดลองเสมือนจริง หรือ Virtual Laboratory จะเกิดขึ้นเร็ว เพราะนักศึกษาเข้าใจศาสตร์ลึกซึ้งมากขึ้น”

ส่วนในปีนี้ที่พบว่าจำนวนนักศึกษา มจพ. เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 6,000 กว่าคน เพิ่มเป็น 7,000 กว่าคน ศ.ดร.สุชาติ     เซี่ยงฉิน ให้รายละเอียดว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการทำงานของมหาวิทยาลัย การจัดอันดับของมหาวิทยาลัย การปรับรูปแบบ OPEN HOUSE  รวมถึงนักศึกษา มจพ. ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ มจพ. ต้องวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร แต่ภาพรวมถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจมีบางหลักสูตรที่มีแนวโน้มจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรองรับการเติบโตให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ต่อไป

สิ่งที่อาจจะได้เห็นหากยังต้องอยู่กับโควิด-19

“สิ่งที่กังวลคือเรื่องคุณภาพ การเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่ต้องมีการติดตามได้ เรื่องของการสอบต้องมีความโปร่งใส ต้องมาวิเคราะห์กันหากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งมีช่องทางที่ทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างที่มีให้เห็น เช่น ประเทศเยอรมันมีการสอบปากเปล่ารายบุคคล ไม่มีข้อเขียน ไม่มีกระดาษ สอบปากเปล่าผ่านแอพฯ โดยมีกรรมการล็อกอินเข้ามาดู เพื่อดูว่าคนถามถามถูก หรือคนตอบตอบถูกหรือไม่ รูปแบบเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้ในอนาคตเพื่อรักษาคุณภาพ และป้องกันในเรื่องของความโปร่งใส” อธิการบดี มจพ. กล่าวทิ้งท้าย

เปิดเทอมนี้หายห่วง! เพราะ มจพ.ยังคงรักษามาตรการตาม สธ อย่างเข้มงวด ภายใต้รากฐาน “วิศวกรรมมือเปื้อน” ที่ปรับตัวสอดคล้องกับโลกใบใหม่ รวมถึงพร้อมที่จะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปพร้อมกับคนไทย ด้วยการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image