พปชร.อภิปรายงบ 64 แนะพัฒนาวิสาหกิจ-เอสเอ็มอี ส่งเสริมท้องถิ่นเข้มแข็ง

วันที่ 3 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล ไว้ที่ 1,260.8 ล้านบาท ให้กับ 11 หน่วยงาน แต่งบประมาณส่วนใหญ่อยู่กับการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นงบประมาณถึง 782 ล้านบาท เหลือเพียง 478 ล้านบาท

จึงกังวลว่าการพัฒนาผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากลนั้น ควรมีการส่งเสริมศักยภาพ และให้โอกาส และประสบการณ์แลกเปลี่ยนพัฒนาให้มากกว่านี้ และควรเติมในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ คือ กรมการค้าต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม คือกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในเรื่องอุตสาหกรรม

ส่วนแผนการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้งบประมาณไว้ที่ 2,688.9 ล้านบาท โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลัก ในจำนวนงบประมาณ 1,041 ล้านบาท และส่วนของกรมพัฒนาชุมชนของกระทรวงมหาดไทย อยู่ที่ 80,100 ล้านบาท ขอเสนอแนะว่าให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักที่จะเสริมและเชื่อมโยงแผนบูรณาการของทั้งสองแผนนี้ให้เชื่อมโยงกัน และเป็นหน่วยงานหลักที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เหมาะสมยิ่งในเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งเชื่อมโยงไปที่การจัดสรรงบประมาณในมาตราที่ 27 ซึ่งเป็นหน่วยงานในการดูแลของนายกรัฐมนตรี มีจำนวนทั้งหมด 9 แผนงาน โดยแผนงานย่อยที่ 9 คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้มอบหมายไว้ที่รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นางพรรณสิริ กล่าวว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นบริษัทที่มีโอกาสสร้างความเสมอภาคและพลังทางสังคมอย่างเข็มแข็ง แต่จัดสรรงบประมาณไว้น้อยมาก ด้วยวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ว่าเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและพัฒนาการค้าการลงทุน สร้างการมีส่วนร่วมในเรื่องของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม จึงขอเสนอให้เชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนในเรื่องของเศรษฐกิจชุมชนต่อยอดไปยังวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีทุกจังหวัดในประเทศไทย ในรูปแบบของ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ส่วนงบประมาณที่จัดสรรให้องค์กรส่วนท้องถิ่น ที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไว้ที่ร้อยละ 29.5 ของรายได้สุทธิของรัฐบาลในวงเงินงบประมาณ 789,893.34 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.75 แต่ในส่วนของเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 332,250.41 ล้านบาทเพิ่มขึ้นที่ ร้อยละ 4.97 ซึ่งขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในแนวทางการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ แม้ว่าจำนวนร้อยละของงบประมาณที่จะจัดให้ยังคงที่อยู่ร้อยละ 29.5 ซึ่งไม่น้อยไปกว่าเดิม เพราะการจัดเก็บรายได้ของปีนี้ในสถานการณ์ต่างๆ เป็นรายได้ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา แม้งบประมาณที่จัดสรรยังไม่ถึงร้อยละ 35 ตามเป้าหมายของการกระจายอำนาจ การเพิ่มศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ โดยรองรับเรื่องการบริการสาธารณะ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ยังคงอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

ด้านน.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายถึงความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในสังคม ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นข่าวเรื่องของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศ การลักขโมย วิ่งชิงปล้น การประทุษร้าย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านทรัพย์สินแล้ว ยังร้ายแรงถึงสูญเสียชีวิต ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

และแม้กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชนโดยตรง แต่ในอีกด้านหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนสุดท้าย คือการคืนคนดีให้กับสังคม หากไม่มีกระบวนการนี้ มีพียงการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ ก็จะเป็นเพียงการกักขังผู้กระทำความผิดไว้ระยะหนึ่ง เมื่อถึงเวลาปล่อยตัวออกมาก็อาจกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก

นางสาวพัชรินทร์ อภิปรายว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2556 ในแต่ละปีมีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำ ในช่วง 3 ปีแรก เฉลี่ยประมาณปีละร้อย 34 ของผู้ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด เป็นตัวเลขที่สูงและน่ากังวลเป็นอย่างมาก ทำให้เราต้องมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการนี้ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะสามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้

นอกจากนี้ในระหว่างคุมขังจะมีการประเมิน จำแนกผู้ต้องขัง เข้าร่วมโปรแกรมปรับนิสัยที่เรียกว่าการบำบัดหรือการแก้ไขฟื้นฟู ในการประเมินจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในด้านการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา แต่ว่าหน่วยงานยังขาดนักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศมีเพียงประมาณ 160 คน ส่วนนักจิตวิทยาทั่วประเทศมีเพียง 20 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขผู้ต้องขังมีมากถึง 3.8 แสนคน เท่ากับว่านักสังคมสงเคราะห์ 1 คน ต้องรับผิดชอบผู้ต้องขัง 2 พันคน นักจิตวิทยา 1 คน ต้องรับผิดขอบผู้ต้องขัง 1 หมื่นคน ทำให้การจำแนกผู้ต้องขังเกิดประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันงบประมาณในการขับเคลื่อนด้านการแก้ไขนิสัยของผู้ต้องขังมีไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณทั้งหมดที่กรมรราชทัณฑ์ได้รับ และยังถูกตัดงบประมาณที่สำคัญลงไปในทุกปี โดยเฉพาะการจัดโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดก่อนการปล่อยตัว โดยงบประมาณลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2561 จาก 6.625 ล้านบาท ลงลงไปเกินครึ่ง เหลือ 3.12 ล้านบาท ล่าสุดในปีงบประมาณที่ผ่านมาเหลือเพียง 1.919 ล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้นจึงขอสนับสนุนการจัดงบประมาณเพิ่มเติมให้กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนการพัฒนาพฤตินิสัย รวมถึงส่วนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่จะช่วยแก้ไขฟื้นฟู และบำบัดเยาวชนที่เคยกระทำความผิด

นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2564 วงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ว่า สนใจในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 402,310 ล้านบาท คิดเป็น 12.2 % ในหัวข้อ 2.10 แผนงานการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่ในเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ 5,790 ล้านบาท สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 ให้บูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคในแต่ละภาคให้รองรับการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสามารถขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนาได้ตามเป้าหมาย

โดยให้ความเห็นชอบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ภาคตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC) เกี่ยวเนื่องกับจังหวัดในกลุ่มตะวันตก ประกอบด้วย จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรี จ.นครปฐม จ.กาญจนบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปีงบประมาณ 2563 ตนได้อภิปรายเรื่องการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมการพัฒนาเชื่อมโครงการทางหลวงสาย 4 เพชรเกษม บริเวณสามแยกวังมะนาว เชื่อมกับทางหลวงสาย 3510 เป็นสี่แยกวังมะนาว เพื่อเปิดการจราจรสู่กลุ่มจังหวัดตะวันตกและเป็นการเชื่อมโยงแนวใหม่ สู่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยทิศเหนือผ่าน จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี ไปบรรจบกับทางหลวงมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ส่วนทางด้านทิศใต้ปัจจุบันทางด่วนสาย 3510 ในส่วนของ จ.เพชรบุรี ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว สามารถเปิดแนวใหม่คู่ขนานกับสาย 4 เพชรเกษมเดิม ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทางหลวงแนวใหม่ลงไปสิ้นสุดได้ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนี้มีแนวมีแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มจังหวัดตะวันตกเป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image