ไคลเมท เชนจ์ เปลี่ยนอนาคต การทำนาลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ 22 จังหวัด

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร ลงมาถึงเขตที่ราบภาคกลาง พิจิตร นครสวรรค์ กระทั่งถึงปากอ่าวไทย กำลังเผชิญวิกฤติสถานการณ์น้ำขั้นรุนแรงอีกครั้ง

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหล่านี้ อาศัยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลัก และมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์กับเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งมีขนาดความจุน้อยกว่ามากเป็นตัวช่วย

หัวใจของแหล่งน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระยะหลังๆ นี้ตกเป็นของเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก เนื่องจากน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพลน้อยลงโดยลำดับ ภาระหนักจึงตกเป็นของเขื่อนสิริกิติ์ แต่สถานการณ์ในปีนี้เขื่อนสิริกิติ์ก็มิสู้ดีเลยเช่นเดียวกับเขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนแควน้อยฯ ที่ทรุดมาตั้งแต่ปี 2562

ฝนเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเดียวสำหรับเติมเขื่อน ปีสองปีนี้ ฝนน้อย น้ำในเขื่อนเลยน้อยลงตามลำดับ สวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรกรรมที่ชินกับทำนาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือ 2 ปี 5 ครั้ง

Advertisement

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยอมรับว่า ณ ขณะนี้ แหล่งน้ำต้นทุน 4 แห่งที่ส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดเผชิญวิกฤติน้ำต้นทุนน้อยมาก (Supply Side) สทนช. เองพยายามรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะเป็นวิธีเดียวที่ทำได้ในฝั่งของผู้ใช้น้ำ (Demand Side)

ข้อมูลกรมชลประทาน ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2563 ทั้ง 4 เขื่อนมีน้ำรวม 7,648 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 31% ของความจุอ่าง และมีน้ำใช้การ 952 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 5% ของปริมาณน้ำใช้การ

ตัวเลขน้ำใช้การ คือตัวบ่งชี้สัญญาณวิกฤติได้ชัด และมีผลกระทบต่อนาปีในระยะฝนทิ้งช่วงถัดจากนี้

อย่างไรก็ดี การณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด มีการเก็บน้ำไว้ในคลองส่งน้ำต่างๆ ซึ่งพอช่วยประทังปัญหาได้ระดับหนึ่งในระยะสั้นๆ ซึ่งช่วงนี้พื้นที่นาส่วนใหญ่ได้รับฝนเก็บไว้ในสระส่วนตัวหรือบ่อน้ำตื้นเอาไว้สำรองใช้ได้

จริงๆ ฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี หลักๆ อาศัยน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ น้ำชลประทานในเขื่อนต่างๆ จะสำรองเก็บไว้ จะใช้เป็นเพียงน้ำเสริม (Supplementary Irrigation) เท่านั้น ในกรณีที่ฝนทิ้งช่วง

แต่การที่ฝนตกท้ายเขื่อนแทนที่จะเหนือเขื่อน ทำให้ขีดความสามารถในการเก็บกักน้ำต้นทุนน้อยลง และจะส่งผลกระทบต่อฤดูแล้งข้างหน้าอย่างรุนแรง เหมือนฤดูแล้งปี 2562/2563 ที่ผ่านมา

“ฝนเป็นปัจจัยหลักตัวเดียวในแง่ที่มาของน้ำ ไม่มีฝน หรือฝนตกท้ายเขื่อน เราก็กักเก็บไม่ได้หรือได้แต่น้อย ฉะนั้นยังเหลือเวลาอีก 3 เดือนสุดท้ายของฤดูฝน ที่จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน” ดร.สมเกียรติ กล่าว

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไคลเมท เชนจ์ อาจเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทาน ที่อาศัยน้ำต้นทุนจากเขื่อนทำการเพาะปลูก  แต่เดิมเคยทำนาปีละ 2 ครั้ง คือนาปีกับนาปรัง  ในอนาคตใกล้อาจเหลือเพียงนาปีเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนนาปรังอาจต้องปรับไปปลูกพืชฤดูแล้งใช้น้ำน้อยอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

“เราพยายามบริหารจัดการน้ำจากเดิมปีต่อปี เป็นปีต่อปีครึ่ง หมายถึงจากต้นฤดูฝนลากยาวข้ามฤดูแล้งจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนอีกรอบ ครอบคลุมระยะฝนทิ้งช่วงด้วย แต่ก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่มีฝนตกเข้ามากักเก็บในอ่างเก็บน้ำมากพอ”

อย่างไรก็ตาม ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ยังพอมีทางออกที่ช่วยลดความเสี่ยงในกรณีฝนตกใม่ทั่วฟ้า โดยการเชื่อมโยงแหล่งน้ำ รวมถึงพัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนแหล่งใหญ่  และเป็นอีกทางเลือกนอกจากฝนที่ต้องรออีก 3 เดือนสุดท้าย

แต่น้ำบาดาลก็มีเงื่อนไขทางกฎหมาย สามารถนำมาใช้ได้ในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบต่อแผ่นดินทรุด

ใช้ได้ในการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ผลผลิตที่ให้มูลค่าสูง

ไม่ใช่การทำนาปลูกข้าวแน่นอน โดยเฉพาะข้าวนาปรัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image