คนหินกองรวมพลังป้องป่าผืนสุดท้าย นำศาสตร์พระราชาพัฒนาเมืองยั่งยืน

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดโครงการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการเชิญชวนเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เข้ารับการประเมินเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนและเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการนำแนวความคิดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนภายใต้ 4 องค์ประกอบ 34 ตัวชี้วัด ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงเกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นายยชญ์ธเนศ แจ้งเจนศิลป์ธนา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลหินกองได้เข้าร่วมโครงการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนประจำปี 2562 และได้รับพิจารณาให้รับรางวัลชมเชยเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนประจำปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่หลายโครงการ โดยเฉพาะ 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการสำรวจอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพรบนเขาพนมยงค์ และการต่อยอดนวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยภายในชุมชน ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเมือง คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายยชญ์ธเนศ กล่าวต่อว่า ตำบลหินกองเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมดุลในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 และ 33 ที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปมากมาย เหลือเพียงป่าเบญจพรรณเขาพนมยงค์เท่านั้นที่หลุดรอดมาได้ จนกลายเป็นป่ากลางเมืองที่เป็นแหล่งพรรณไม้และสมุนไพรหายาก รวมถึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อการควบคุมอุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในพื้นที่ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสภาพป่าบนเขาพนมยงค์เริ่มประสบภาวะเสื่อมโทรม ขณะที่สมุนไพรก็ลดจำนวนลง โดยมีสาเหตุจากการเก็บที่ไม่ถูกวิธี มีการทำลายสมุนไพรทั้งต้น หน้าดินแห้งแล้ง และเกิดการลักลอบทิ้งขยะในป่า เทศบาลตำบลหินกองจึงได้ผลักดัน “โครงการสำรวจอนุรักษ์พัฒนาแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพรบนเขาพนมยงค์” ขึ้นเพื่อกอบกู้วิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

Advertisement

“เทศบาลได้น้อมนำศาสตร์พระราชาเรื่องการห่มดินมาใช้ โดยทำเสวียนล้อมโคนต้นไม้ในป่าก่อนนำเศษใบไม้มาวางคลุมดินป้องกันไอร้อนจากเปลวแดด ดังนั้นเมื่อมีการรดน้ำหรือฝนตกลงมาก็จะทำให้ผืนดินทั่วบริเวณดังกล่าวอุ้มน้ำได้นานมากขึ้น แม้แต่ในฤดูแล้งก็ยังชุ่มชื้น รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นฝายธรรมชาติชะลอความเร็วของน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกด้วย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ต้นไม้เติบโต เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงฤดูแล้งที่ป่ายังคงมีแต่สีเขียว และจากการเปรียบเทียบอุณหภูมิช่วงหน้าแล้งปี 2558-2560 ซึ่งเป็นช่วงก่อนดำเนินโครงการฯ พบอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 40-42 องศาเซลเซียส แต่หลังจากที่ดำเนินโครงการไปแล้วในปี 2561-2562 อุณหภูมิเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 38 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว”

Advertisement

นายยชญ์ธเนศ กล่าวต่อว่า โครงการสำคัญอีกเรื่อง คือ การพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยโดยมีการรณรงค์การคัดแยกขยะที่ต้นทางแต่ละครัวเรือน เพื่อแล้วนำขยะอินทรีย์กลุ่มผักและผลไม้มาทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในชุมชน รวมทั้งพัฒนาเป็นน้ำยาต่างๆ เช่น น้ำยาล้างพื้น ขจัดกลิ่น น้ำยาซักผ้าแบบออแกนนิค และที่สำคัญ คือ การต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยนำใช้สมุนไพรกลุ่มมะกรูดมาเป็นส่วนผสมเพื่อผลิตโลชั่นและสเปรย์มะกรูดกันยุง เป็นต้น โดยเทศบาลได้มีการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้ประชาชนนำไปใช้ในครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บและขนไปกำจัดแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

“รางวัลชมเชยเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนประจำปี 2562 ถือเป็นรางวัลที่เกิดจากความร่วมมือของทุกคนทั้งคณะกรรมการชุมชน อสม. โรงเรียน ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งนักเรียนและกลุ่มเยาวชน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยชี้ให้เราเห็นว่าการดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนของเราได้เดินมาถูกทางแล้ว และที่สำคัญ คือ จะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนเกิดความหวงแหนและอนุรักษ์ป่าผืนสุดท้ายของเราไว้ เพราะนี่ไม่ได้เป็นแค่สมบัติของชาวหินกองเท่านั้น แต่เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน” นายยชญ์ธเนศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image