ประกันสังคม พร้อมจ่ายชดเชยรายได้ลูกจ้างผู้ประกันตน ม.33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน คนละ 1.5 หมื่นบ. ตามมติ ครม.

ประกันสังคม พร้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอให้แก่กลุ่มผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับการชดเชยรายได้เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำนักงานประกันสังคม เผยมีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ผู้มีสิทธิ เกือบ 6 หมื่นราย แจงได้รับเงินจากกระทรวงการคลังเมื่อใด พร้อมโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้าง ผู้ประกันตนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค.63) รวม 15,000 บาท จ่ายเพียงครั้งเดียว

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่อนุมัติโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ว่าสำนักงานประกันสังคมพร้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาในวงเงิน 15,000 บาท ให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน โดยสำนักงานประกันสังคมพร้อมโอนเข้าบัญชีผู้ประกันตนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2563) รวม 15,000 บาท จ่ายเพียงครั้งเดียวหลังจากได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวนลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยามีจำนวนทั้งสิ้น 59,776 คน ในวงเงินการจ่ายทั้งสิ้น 896,640,000 บาท

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการที่ผู้ประกันตนได้รับการเยียวยา ตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยการขาดรายได้เพื่อนำไปใช้จ่าย ในการดำรงชีวิตแล้ว ยังกลับไปเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการจับจ่ายใช้สอยมีการจ้างงาน อย่างต่อเนื่อง และนายจ้างสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ทำให้มีรายได้และจ่ายกลับไปเป็นภาษีให้กับรัฐต่อไป

——————————

Advertisement

ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image