MEA ครบรอบ 62 ปี ขับเคลื่อน Change to New Normal พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง ครบ 62 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 นี้ MEA มีภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) พร้อมพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อประชาชนภายใต้แนวทาง “62 Year MEA CHANGE to NEW NORMAL”

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวต่อไปว่า MEA ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีประวัติศาสตร์ในการก่อตั้งอันยาวนาน โดยได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลา 62 ปี ที่ผ่านมานั้น MEA ได้ให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ มีการเติบโตไปพร้อมๆ กับสังคม ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนการปรับเปลี่ยนงานบริการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบ New Normal ทั้งในด้านการวางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเร่งด่วน และการยกระดับคุณภาพงานบริการต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อโรค โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 สถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม ปี 2563 เท่ากับ 50,840.09 ล้านหน่วย โดย MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 100 มีสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 จำนวน 9,525.93 เมกะวัตต์ และได้พัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ส่งผลให้มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.469 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 15.412 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือน มิถุนายน 2563)

ในด้านการพัฒนาบริการต่างๆ MEA ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยรูปแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น MEA Smart Life Application ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในด้านการตรวจสอบ จ่ายค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิต – Internet Banking และการแจ้งไฟฟ้าขัดข้อง อีกทั้ง ในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา ระบบบริการออนไลน์ MEASY (https://eservice.mea.or.th/measy) ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 และช่องทางดังกล่าวยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับบริการขอติดตั้งไฟฟ้าใหม่ ขอติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราว ขอเพิ่ม-ลดขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ตลอดจนการของดการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวก็สามารถรับบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะที่การรับเอกสารต่างๆ ของ MEA เช่น ใบแจ้งยอดค่าไฟฟ้า ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และหนังสือเตือนให้ชำระค่าไฟฟ้านั้น MEA ได้ดำเนินโครงการ

MEA e-Bill เปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับเอกสารในรูปแบบเอกสารออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ Email เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในการได้รับเอกสารอย่างรวดเร็ว ช่วยลดขยะอันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ MEA ตอบรับนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการดำเนินงานเป็นตัวแทนประเทศไทยที่เข้ารับการประเมินความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจ หรือ The Ease of Doing Business ด้านความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้า (Getting Electricity) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดอันดับของธนาคารโลก (Doing Business 2020) ประจำปี พ.ศ. 2563 MEA มีคะแนนเป็นอันดับที่ 6 ของโลก เป็นการแสดงถึงคุณภาพบริการของ MEA ที่ส่งเสริมการลงทุน การทำธุรกิจในประเทศไทยจากทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย MEA ยังได้มีโครงการพัฒนางานบริการในพื้นที่เขต ทั้ง 18 แห่ง ตามโครงการ Virtual District โดยดำเนินการปรับปรุงการบริการทั้งในด้าน Front Office และ Back Office ให้การบริการมีความสะดวกมากขึ้น

Advertisement

สำหรับบริการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV) MEA ได้จัดทำ MEA EV Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และข้อมูลการชาร์จของผู้ใช้งาน โดย MEA ยังได้ให้ความสำคัญกับการจัดการระบบไฟฟ้า และระบบการให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้มีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และปัจจุบัน MEA ยังมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ารวม 14 สถานี โดยล่าสุด ได้ให้บริการออกแบบและติดตั้งเครื่องชาร์จไฟยานยนต์ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยของลูกค้าโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง MEA ยังคงสนับสนุนกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ เช่น Nissan MG รวมทั้งกระทรวงพลังงาน เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และการสร้างฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต

ในด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า MEA ยังคงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจตามแผนงาน พร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่ให้บริการ โดยปัจจุบัน กฟน. ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 48.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ 167 กิโลเมตร ซึ่งโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ได้แก่  ถนนวิทยุ ช่วงแยกเพลินจิต ถึง ถนนพระราม 4 และโครงการรอบพระตำหนักจิตรลดา รวมถึงโครงการขยายการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าใจกลางเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

การพัฒนาระบบไฟฟ้าไปสู่การเป็น มหานครอัจฉริยะ Smart Metro Grid ในปัจจุบัน MEA ยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินโครงการ เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายต่า ๆ และสถานีกลางบางซื่อ ซึ่ง MEA ได้ดำเนินการสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อเพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1,200 เอ็มวีเอ (MVA) เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563 ในปี 2563 MEA จึงได้ติดตั้ง smart meter จำนวน 33,265 ชุด  และการใช้เทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบได้แบบสองทาง (two-way communication) มีคุณสมบัติในการ monitor และแสดงผลได้ทันที (real time) ช่วยให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก smart meter ทั้งปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ สามารถหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ในด้านเทคโนโลยีการควบคุมระบบไฟฟ้า MEA ยังมีแผนดำเนินการปรับปรุงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดการระบบไฟฟ้า ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลสั่งการที่ทันสมัย ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการควบคุมแรงดัน รวมถึงการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้สามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และเพื่อการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานครให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการวางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในรูปแบบ New Normal นั้น MEA ได้ปรับปรุงรูปแบบงานบริการในทุกที่ทำการเพื่อให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน และเป็นไปตามข้อบังคับด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยการตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อก่อนเข้าอาคาร MEA รวมถึงบริเวณห้องชำระค่าไฟฟ้า ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermoscan) ทำความสะอาดพื้นที่ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณให้บริการลูกค้าและภายในอาคารสำนักงาน เพื่อสร้างความปลอดภัย รวมถึงได้ออกประกาศคำสั่งภายในเพื่อให้พนักงานปฎิบัติตามนโยบายรัฐบาลอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังได้ให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเชื้อ COVID-19 คำแนะนำวิธีปฏิบัติตนผ่านช่องทางสื่อสารของ MEA เพื่อให้พนักงานและประชาชนมีความเข้าใจและสามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดได้อย่างถูกวิธี พร้อมร่วมรณรงค์ให้ทุกคนมีวินัยในการใช้ชีวิตแบบ New Normal โดยสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอก เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสแกนเข้าและออกจากสำนักงานทุกแห่งผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”

สำหรับงานด้านสังคมสิ่งแวดล้อม MEA ได้นำเสาไฟฟ้าจากการนำสายไฟลงใต้ดินไปทำประโยชน์ในรูปแบบ MEA’s Model โดยนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานและยางรถยนต์เก่านำมาทำเป็นแนวกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน และป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ และโครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่ง คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยส่งมอบโซลาร์เซลล์ และโคมไฟส่องสว่างในชุมชน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชนเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย สร้างบ่อซีเมนต์เพาะเลี้ยงปลาดุก พร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลา อาหารปลาอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาด มุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน และ MEA เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการช่างไฟฟ้ามืออาชีพ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชน เข้าอบรม ทดสอบและประเมิน (สัมภาษณ์) ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันอันตรายรวมถึงความเสี่ยงของช่างไฟฟ้าในระหว่างการปฏิบัติงาน และเสริมสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เพื่อขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ให้สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพงานด้านช่างไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมยังมีโอกาสได้รับการอบรมการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EV Charger รวมถึงร่วมให้บริการด้านไฟฟ้าแบบครบวงจรผ่าน Application MEA e-Fix เสริมสร้างรายได้เป็นเครือข่ายตัวแทน MEA ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ อีกด้วย

ในด้านการบริหารองค์กร MEA ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส จากการประกาศรางวัล NACC Integrity Awards) จากสำนักงาน ป.ป.ช. ในครั้งที่ 4 เมื่อปี 2556 และยังได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใสต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน ได้แก่ ครั้งที่ 7 ปี 2560 ครั้งที่ 8 ปี 2561 และล่าสุดเป็นครั้งที่ 9 นอกจากนี้ MEA ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กร ที่ระดับ AAA ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดด้วยแนวโน้มอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ Stable ที่สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่องสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่รอบคอบ รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ตอกย้ำว่า MEA เป็นองค์กรโปร่งใส มีคุณธรรมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ มีโครงการความร่วมมือระหว่าง MEA และ อต.ขับเคลื่อนโครงการพี่เลี้ยง สนับสนุนรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร ยกระดับคุณภาพรัฐวิสาหกิจไทย ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดย MEA เป็นพี่เลี้ยงให้แก่องค์การตลาด ทั้งมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันจัดทำและทบทวนแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับการบริหารจัดการองค์กรขององค์การตลาดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

MEA ยังคงมุ่งมั่นภารกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต ด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ มั่นคง และปลอดภัย ซึ่งในวันนี้ MEA มีความพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัลในการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นับเป็นการยกระดับงานบริการพร้อมกับการวางมาตรฐานป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคม New Normal ทั้งนี้ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image