หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยหนี้ท่วมตัว!

ผลพวงจากโควิด-19 ทำให้เราสังเกตได้อย่างหนึ่ง คือคนไทยยังไม่มีแผนรับมือเมื่อเกิด income shock หรือสูญเสียงาน เสียรายได้ ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้และรายจ่ายทั่วไปได้ ทั้งขาดพร่องวินัยการออม หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจไทยก็กำลังเผชิญอยู่   #โควิด19 #หนี้ครัวเรือน #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

การใช้จ่ายของครัวเรือนไทยทุกระดับมีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจทุกภาคส่วน และเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ ไปด้วย หากเมื่อใดก็ตามภาคครัวเรือนและประชาชนทั่วไปเกิดความไม่เชื่อมั่นในการหารายได้ ในขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น ย่อมไม่เกิดผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ ด้วยหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นจะทำให้กำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอลง และจะไปลดทอนแรงจูงใจในการลงทุนของผู้ประกอบการได้ด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาเรื่องประชาชนขาดการออมเงิน แต่หนี้สินภาคครัวเรือนกลับพุ่งสูงขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่หนี้สินภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นจากการเช่าซื้อรถยนต์ในโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้เกิดหนี้สินภาคครัวเรือนมากที่สุด

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksmeนอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมด้านอื่นๆ ที่เข้ามาทำให้ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นอีก เช่นการกู้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วมปี 2554 และเกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินให้แก่บุคคลทั่วไป

Advertisement

ต่อมาในปี 2556 หนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวแบบชะลอลงต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่กระนั้นหนี้สินภาคครัวเรือนก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 88-90% เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19

ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการพักชำระหนี้ ส่งผลทำให้ระดับหนี้ไม่ลดลงมากตามสภาพ และทำให้สภาพปัญหาเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว มีความเปราะบางมากขึ้นไปอีก จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 80.1% ในไตรมาส 1/63 สะท้อนว่าภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม

สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เศรษฐกิจรวมทั้งรายได้ของภาคธุรกิจและประชาชนจำนวนมากปรับลดลง และเกิดปัญหา เบี้ยวหนี้พุ่งในยุคที่มีโควิดระบาดตามมา

Advertisement

ธปท. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวลงถึงร้อยละ 5.3 ผลจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัว จึงส่งผลต่อกระแสรายได้ที่จะได้รับ รวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้คืน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ส่วนบุคคลรายย่อยที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ กลุ่มลูกหนี้บุคคลซึ่งแต่เดิมมีปัญหาฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างเปราะบาง และกลุ่มที่ถูกปรับลดชั่วโมงการทำงาน ย่อมจะมีผลทำให้สัดส่วนในการเกิดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมคนรุ่นใหม่นิยมก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วยGen Y–Gen X แชมป์สร้างหนี้

จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า กลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่ม Gen Y โดย ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2563 มีหนี้รวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย (NPL) คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท รองลงมาคือกลุ่ม Gen X มีการก่อหนี้ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียในระบบอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่ม Baby boom มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท มีหนี้เสีย 8.4 หมื่นล้านบาท ส่วน Gen Z  มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้เสียแล้ว 1.2 พันล้านบาท โดยหนี้เสียของ Gen Z กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า ถ้าดูหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก มีราวๆ 8.4 แสนบัญชี ในจำนวนนี้ราว 50% เป็นกลุ่มเจนวาย และหากดูกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้ ที่เริ่มค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน ไปจนถึง 90 วันขึ้นไป ซึ่งถือว่ากลายเป็นหนี้เสียแล้ว พบว่ากลุ่ม Gen Y มีมากสุด และหนี้เสียในกลุ่มนี้ยังเร่งตัวขึ้นมากด้วย ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นหนี้ที่มีปัญหามากกว่า 1 แสนล้านบาท อีกกลุ่มที่หนี้เสียเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องคือ Gen X มีบัญชีที่มีปัญหากว่า 1.1 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้างเกือบ 1.4 แสนล้านบาท

สำหรับหนี้บ้าน หากดูจำนวนบัญชีที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก พบว่ามี 8 หมื่นบัญชี เป็นของกลุ่ม Gen Y ในสัดส่วน 64% ส่วนจำนวนหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระที่น่าห่วงในกลุ่มนี้ คือ กลุ่ม Gen Y และ Gen X พบว่า จำนวนบัญชีที่ค้างชำระเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย Gen Y 1.1 แสนบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้าง 1.4 แสนล้านบาท ส่วน Gen Y หนี้ที่มีปัญหาเกือบ 1.2 แสนบัญชี มีหนี้ค้างชำระกว่า 1.3 แสนล้านบาท

กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือลูกหนี้กลุ่ม Gen x ที่มีอายุตั้งแต่ 38-54 ปี กลุ่มนี้มักบริโภคนิยม จึงก่อหนี้เต็มที่แทบทุกสินเชื่อ เพราะอยู่ในช่วงสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งมั่นคง พอเกิด income shock หรือสูญเสียงาน ภาระค่าใช้จ่ายและภาระการจ่ายหนี้คืนจึงสูงมากๆ  แม้ช่วงที่ผ่านมากลุ่มนี้ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้ไประดับหนึ่งแล้ว แต่กังวลว่าเมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้จะหารายได้จากไหนมาชำระหนี้ แม้จะมีจำนวนหนึ่งที่มีงานทำหรือมีธุรกิจรองรับก็ตาม

นายพีรพงษ์ ฟูศิริ คณบดีวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวถึงการดำรงชีวิตของผู้คนว่าจะแตกต่างไปจากช่วงก่อนที่เกิดโควิด-19 แต่เชื่อว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของทุกคนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ยังคงใช้จ่ายเท่าเดิม หรือบางคนอาจจะใช้จ่ายมากกว่า เพราะเมื่ออยู่บ้านไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ออกไปไหน แต่เข้าอินเทอร์เน็ตมากขึ้นสามารถเข้าไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น

ยิ่งเป็นสังคมไร้เงินสด ทุกอย่างซื้อขายผ่านออนไลน์ยิ่งง่ายต่อการซื้อ ทำให้ตอนนี้เมื่อดูรายจ่ายของคนรุ่นใหม่หรือคนวัยทำงาน จะเห็นได้ว่ารายจ่ายเท่าเดิมหรือมากกว่า แต่รายรับกลับน้อยลง รายรับกับรายจ่ายไม่สมดุลกัน และสินค้า 70-80% ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงานซื้อนั้นจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และคนวัยทำงาน จะเป็นไปตามกระแสของสังคม เทรนด์แฟชั่นที่เกิดขึ้น

อีกทั้งคนกลุ่มนี้จะติดนิสัยการใช้จ่ายผ่านบัตร การใช้จ่ายโดยเงินในอนาคต ไม่ใช่เงินสด และซื้อสินค้าออนไลน์เป็นหลักอยู่แล้ว รูปแบบการใช้ชีวิตแม้จะเป็นแบบ New Normal หรือไม่ ไม่ทำให้ทุกคนหยุดการใช้จ่าย และนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานเป็นหนี้สะสม หนี้สูญมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นแม้โรคระบาดจะถูกควบคุมและรัฐบาลผ่อนปรนคลายล็อคดาวน์มาตรการต่างๆ แล้วก็ตาม แต่เศรษฐกิจไทยยังคงไม่ฟื้นตัวภายในเร็ววัน และประชากรไทยหลายคนยังตกอยู่ในสภาวะว่างงาน ประกอบกับความมีวินัยทางการเงินหย่อนยานในแบบเดิม ภายใต้ความกดดันเรื่องภาระค่าใช้จ่าย หนี้สิน และขาดความเชื่อมั่นด้านการหารายได้ ในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว จากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นแต่รายได้ลดลง จึงไม่เกิดการใช้จ่ายเงินในภาคครัวเรือน ไปจนถึงไปเพิ่มโอกาสการเกิดก่อหนี้ NPL ขึ้นจากเดิมได้อีก

ซึ่งต้นทุนการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่มีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ก็มีผลต่อระบบการเงินในครัวเรือนและการออมเงินด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตส่วนตัวและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการดำเนินชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีและกระแสแฟชั่นที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ด้านผลการสำรวจจากบริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ในปี 2562 ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 20-40 ปี อยู่ประมาณเกือบ 20 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วน 30% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องการเงินและปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่ารายได้ครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ย 26,018 บาทต่อเดือน

ส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 20,742 บาท หนี้สินเฉลี่ย 164,055 บาทต่อครัวเรือน จะเห็นว่าทิศทางของรายได้กับรายจ่ายให้ผลสะท้อนกลับมาในทิศทางเดียวกับที่แมนพาวเวอร์เคยทำการสำรวจ ซึ่งพบปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย และปัญหาการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคลคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท หรืออายุ 20 ปีต้นๆ ถึงกลุ่มที่มีรายได้ในช่วง 50,000 บาท ถือเป็นสัดส่วน 65% ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ 20,000 -30,000 บาท 27% มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 10,000- 20,000 บาทต่อเดือน จะอยู่ที่ 73% สัดส่วนสูงสุดเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 -15,000 บาท ราว 30%

คนรุ่นใหม่มีค่าใช้จ่ายสูงทำให้รายได้ไม่พอ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตนเอง อันดับ 1 คือ ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย 51% ถัดมาคือท่องเที่ยว 47%, ความบันเทิง 39%, ความสวยความงาม 38% และแฟชั่น 36% สอดคล้องกับตัวเลขของสถิติแห่งชาติ และยังพบว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z น่าจะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าอันดับแรกอาจเป็นผลพวงมาจากการขาดวินัยด้านการออมนั่นเอง

แหล่งอ้างอิง  : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 มิถุนายน 2563

สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 

 เปิดรายงาน IMF–UNCTAD วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

หากวันนี้ กทม. ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับคุณ จะทำอย่างไร?

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image