ปภ.บูรณาการขับเคลื่อน “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” มุ่งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย  ในฐานะเลขานุการสำนักงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นต่อเนื่องทุกระดับ ภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564-2573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน    ลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573 และนำไปสู่   การสัญจรปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ จึงได้กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายหลักที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นต่อเนื่องในทุกระดับ ภายใต้แผนระดับประเทศและกรอบการดำเนินงานระดับโลก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” (Stockholm Declaration) พ.ศ. 2564-2573 และเป้าหมายระดับโลก (Voluntary Global Road Safety Performance Targets) ให้สอดรับกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และกรอบยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนน 20 ปี เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยในผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม

Advertisement

นายชยพล กล่าวต่อไปว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” โดยมีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งได้กำหนดแนวทางของการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวไว้ ดังนี้ 1. พัฒนายุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ โดยเฉพาะการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ให้สอดคล้องกับกรอบปฏิญญาสตอกโฮล์มและเป้าหมายโลกที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ พร้อมผลักดันการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและเป็นรูปธรรม 2. ยกระดับการจัดการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่การจัดเก็บและรายงานข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยเสี่ยง เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการลดอุบัติเหตุทางถนนที่สอคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนสร้างการรับรู้ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  ในการสร้างความปลอดภัยทางถนน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยอาศัยกลไกของคณะอนุกรรมการ    ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รวมถึงขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อบูรณาการทรัพยากรในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย 4. ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์และสภาพปัญหา พร้อมบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้น 5. สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยการรรณรงค์ประชาสัมพันธ์   การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน อาทิ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เด็กและเยาวชน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในทุกรูปแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน และนำไปสู่การสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image