ศูนย์ Elderly Day Care การรับมือสังคมผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุคือโจทย์ใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ เพราะโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติมีจำนวนผู้สูงอายุล้อไปกับอัตราผู้สูงอายุของประเทศ โดยปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุไทยจะมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว

ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ (Elderly Day Care Center) ในโครงการบ้านเอิ้ออาทรในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จึงเป็นคำตอบของโจทย์เรื่องผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี เพราะมีด้วยกันถึง 8 แห่ง ประกอบด้วย บ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (วัดกู้ 2) บ้านเอื้ออาทรประชานิเวศน์ บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 1 บ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 (บางกรวย-ไทรน้อย) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (บางใหญ่ซิตี้) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (แฟลต) บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (กันตนา) โดยมีบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) เป็นต้นแบบนำร่อง เป็นศูนย์แห่งแรกของรัฐในประเทศไทย เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ช่วงปี 2559-2562 จนเห็นผลเป็นรูปธรรม การเคหะแห่งชาติจึงต่อยอดขยายเพิ่มอีก 7 แห่ง โดยเปิดดำเนินการในปีนี้ทั้งหมด

“นอกจากบูรณาการหลายหน่วยงานทำงานร่วมกันแล้ว การฝึกอบรมเพื่อผู้ดูแลผู้ป่วย (Care Giver) จะต้องผ่านการอบรมจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมจากประเทศญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุมาก่อน จึงมีความชำนาญในการดูแลผู้สูงอายุ” นางมณฑา อุ่นวิเศษ เล่า

Advertisement

นางมณฑาเป็นทั้งกรรมการชุมชนบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย (Care Giver)

ผู้ป่วยสูงอายุมีทั้งช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และเป็นผู้ป่วยติดเตียง การเดินทางไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจึงไม่ค่อยสะดวก ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการใช้เวลาค่อนข้างนานกับการรอตรวจ จนทำให้ไม่อยากรับการรักษาไปเลยก็มี

Advertisement

“พอมีศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป ทุกคนสะดวกเดินทางมาในระยะเวลาสั้นๆ มีคนคอยช่วยเหลือ มาถึงก็ได้พูดจาทักทายเพื่อนร่วมวัย จิตใจของผู้ป่วยก็ดีขึ้น ไม่เครียด ใม่ซึมเศร้า ไม่ติดบ้าน หลายคนฟื้นตัวเร็ว บางคนเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกก็ยังฟิ้นฟูสำเร็จ สามารถออกไปทำงานได้ ศูนย์แห่งนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญของชุมชน นอกจากนี้ยังลดภาระของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าไปด้วย”

สำหรับผู้ดูแล (Care Giver) อย่างเธอเป็นจิตอาสาไม่รับค่าคอบแทน แต่สิ่งที่ตอบแทนที่ได้รับ คือความสุขใจที่เห็นผู้ป่วยสูงอายุฟื้นฟูตัวเองได้ ในทางพุทธศาสนาคือการได้ทำบุญและรับผลบุญทางใจ

ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) ยังให้บริการผู้ป่วยสูงอายุของทั้งตำบลบางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี อีกด้วย

ในขณะนางวีณา ชายิ้มวงษ์ ประธานชุมชนบ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (วัดกู้ 2) เล่าว่า แรกที่การเคหะแห่งชาติประกาศขยายศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ “พอทราบก็เสนอตัวเองทันที เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีศูนย์ดูแลที่นี่”

ในช่วงแรก หลายคนยังไม่เข้าใจ แต่พอสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีนำเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์มาให้ที่ศูนย์ชุมชนการเคหะบ้านเอื้ออาทรวัดกู้ 2 เท่านั้น “ทุกคนตัดสินใจรับเลย เพราะรู้ว่าทำจริง เปิดจริง ตอนนี้เปิดให้บริการมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว”

วีณาก็ไม่ต่างจากมณฑากับการมีศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ คือความสุขทางใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ทรมานได้รับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพขึ้นมา

ผู้สูงอายุในบ้านเอื้ออาทรนนทบุรีทั้งหมด มีหลักประกันสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมด้วยศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ 8 แห่งในจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวของประเทศไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image