พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดนาปรังอีกปีค่อนข้างแน่

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่ 22 จังหวัดในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ไล่ลงภาคกลางตอนบน จนออกอ่าวไทยที่สมุทรปราการ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่

เป็นแหล่งปลูกข้าวที่หมายตาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงตั้งกรมคลองหรือกรมชลประทานในปัจจุบัน

ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นล่ำเป็นสันได้ด้วยทุ่งรวงทองแห่งนี้ หลังมีการชลประทานสมัยใหม่ ทำนาได้ 5 ครั้งต่อ 2 ปี

Advertisement

นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 10 กรมชลประทานเป็นผู้ที่ฉายภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ชัดเจนด้วยภาพวาดเพียงภาพเดียว

แหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วยเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เริ่มด้วย ภาคความต้องการใช้น้ำ (Demand) ก่อน เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค มีความต้องการวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเดือนละ 300 ล้าน ลบ.ม. นาน 9 เดือน โดยนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563- 31 พฤษภาคม 2564 เผื่อระยะฝนทิ้งช่วง 1 เดือนไว้ด้วย ความต้องการใช้จึงเท่ากับ 5,400 ล้าน ลบ.ม.

สิ้นฤดูฝน 31 ตุลาคม 2563 หรือเริ่มต้นวันที่ 1 พฤศจิกายน ต้องมีน้ำใน 4 อ่างไม่น้อยกว่า 5,400 ล้าน ลบ.ม.

แต่เรายังมีความต้องการน้ำเพื่อทำนาปรังอีกด้วย รวมกับ 5,400 ล้าน ลบ.ม. ของการอุปโภคบริโภคแล้วต้องมีปริมาณน้ำ 12,000 ล้าน ลบ.ม.

ทีนี้ภาคของสถานการณ์น้ำ (Supply) ณ ขณะนี้ (17 กันยายน 2563) ทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำใช้การ 3,489 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำในเขื่อน 10,185 ล้าน ลบ.ม.

ฉะนั้น ถ้าจะให้พออุปโภคบริโภคใน 22 จังหวัด ต้องมีน้ำใช้การเพิ่มอีกราวๆ 2,000 ล้าน ลบ.ม. เฉลี่ยมีน้ำไหลลงอ่าง 66 ล้าน ลบ.ม. ทุกวันตลอด 30 วันข้างหน้า

ถ้ามองไกลถึงน้ำเพี่อทำนาปรังด้วยต้องมีน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 9,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยมีน้ำไหลลงวันละ 300 ล้าน ลบ.ม.

เอาประเด็นน้ำอุปโภคบริโภคก่อน โอกาสรอดยังลูกผีลูกคน โอกาสจะได้น้ำเพิ่ม 2,000 ล้าน ลบ.ม. ไม่หมูเลย เพราะมีเวลาทำแต้มไม่เกิน 30 วัน ถึงแม้จะมีพายุโซนร้อนโนอึลเข้ามาก็ตาม เพราะพายุมีระยะเวลาไม่นานวันนัก

ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงน้ำทำนาปรังเลย เพราะไกลเกินเอื้อมไปเสียแล้ว

สิ้น 31 ตุลาคม 2563 กระทรวงเกษตรฯ คงออกประกาศให้เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดงดทำนาปรังต่อเป็นปีที่ 3  เพราะไม่มีน้ำต้นทุนที่ต้องสำรองใช้อุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศไล่น้ำเค็มเป็นหลัก

เกษตรกรต้องเตรียมตัวหาลู่ทางอื่น เพราะแม้จะมีน้ำบ่อตอก น้ำบาดาล แต่คงช่วยในพื้นที่ได้ไม่มากนัก

เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบไปหมด  ต่อเนื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image