โครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเคหะรับมือโควิด ลดต้นทุน-ขยายลูกค้า-เพิ่มช่องทางตลาด

นางพัชรี อารยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยอมรับว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด ทำให้คนไทยว่างงานไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน ส่งผลกระทบทางด้านสังคมที่เป็นหน้าที่ของ พม. โดยตรง

ต้องพยายามหาทางปกป้องกลุ่มคนที่มีงานทำให้คงอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติซึ่งกระจายทั่วประเทศ  เป็นที่มาของโครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเคหะ

ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 ผลิตสินค้าจากดินญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 30 ครัวเรือน ซึ่งเป็นการหาทางออกจากวิกฤติใหญ่หลังเหตุน้ำท่วมปี 2554 โดยรูปแบบสินค้าจะเป็นการปั้นดินญี่ปุ่นให้เป็นรูปดอกไม้ต่างๆ สามารถนำไปมอบเป็นของขวัญหรือของที่ระลึกได้

นางขรินทร์ทิพยทิพา จินตนกูล เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 กล่าวว่า เมื่อปี 2554 หลังเหตุการณ์น้ำท่วม ก็ได้มีการพูดคุยกันในชุมชนว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ จึงตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าจะต้องหาอะไรทำ ก็มีตัวเลือกหลายอย่าง จนมาลงเอยที่ผลิตภัณฑ์จากดินญี่ปุ่นที่ประธานกลุ่มได้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนมีอาชีพใหม่พอเลี้ยงตัวเองได้ โดยมีตลาดขายส่งที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งขยายฐานถึงการส่งออกจากผู้ขายอีกต่อ และก็นำไปวางขายในโครงการสินค้าโอทอป นอกนั้นก็เป็นการทำตามสั่ง (ออร์เดอร์)

Advertisement

“ต้องบอกว่ามีรายได้ ตกเดือนละ 5,000-8,000 บาท ทำงานกันอยู่ที่บ้าน และพัฒนาฝีมือจนสามารถผลิตดินญี่ปุ่นได้เอง ทำให้ลดต้นทุนโดยปริยาย เรียกว่าพอเลี้ยงตัวได้ มีงานทำไม่ขาดมือ”

แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้ง เพราะตลาดนัดสวนจตุจักร ห้างร้านต่างๆ ก็ปิด เหลือแต่งานที่ทำตามออร์เดอร์พอประทังรายได้กินไปวันๆ พอดีกับการเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการพัฒนาสินค้าเคหะชุมชน และชุมชนบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 ได้รับเลือกเข้ามารับการอบรมด้วย

โครงการนี้เป็นการต่อยอดอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเดิมอยู่แล้ว โดยนำเอาอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เริ่มตั้งแต่การสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ จุดอ่อน จุดแข็ง และพัฒนาปรับปรุงโดยให้คำแนะนำและการบ้านไปปฏิบัติ โดยหลักใหญ่ใจความคือการขยายกลุ่มเป้าหมายลูกค้า การลดต้นทุนการผลิตและการสร้างช่องทางตลาดเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

“สินค้าของเราส่วนใหญ่ จะเน้นทำเสมือนจริง อย่างดอกบัวก็จะทำเสมือนจริง สวยงาม แต่จุดอ่อนอยู่ที่ใช้ได้จำกัด เช่น บูชาพระในห้องพระ หรือตั้งโชว์ในห้องทำงาน แต่จะไม่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้บูชาพระ ไม่ชอบสีเหมือนจริง แต่ชอบความแปลกใหม่  เป็นลักษณะดีไซน์ในจินตนาการ สามารถใช้ตกแต่งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องทำงาน ซึ่งหลากหลายกว่าที่เราคิด”

ต้นทุนการผลิต นอกจากผลิตดินญี่ปุ่นที่เป็นวัตถุดิบสำคัญได้แล้ว ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ยังลดวัสดุลงได้อีก เช่น ในช่อดอกไม้มีดอกไม้จำนวนมาก ก็ดีโซน์ใหม่ให้จำนวนดอกลดลง แต่สวยขึ้น  ทำให้ต้นทุนลดลง แถมรูปแบบใหม่ยังตั้งราคาได้สูงอีก เท่ากับเราได้สองเด้ง การอบรมนี้จึงเป็นความหวังเล็กของกลุ่มเราที่จะต่อยอดและพัฒนาได้ตามที่ตลาดต้องการ จนมีการบอกต่อ และสมาชิกในกลุ่มจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น

บรรยากาศในที่อบรมเชิงปฏิบัติการจึงสนุกสนาน ที่ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำการบ้านที่เป็นรูปแบบใหม่มาให้อาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมวิจารณ์และร่วมหาทางออกเป็นเปลาะๆ ทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ไปจนถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยมีนักศึกษาเป็นตัวแทนช่วยตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ด้วย

“เป็นประโยชน์มาก เราเคยชินกับรูปแบบเก่า ตลาดเก่า แต่พอมาเรียนรู้ก็เห็นช่องทาง โอกาส และการเติบโต ทำให้กลุ่มสามารถขยายงานได้อีก การเคหะแห่งชาติก็มาช่วยเรื่องการขยายตลาดพ่วงไปกับการทำตลาดที่อยู่อาศัย และมีการจัดงานเปิดตัว ช่องทางการโฆษณาผ่านออนไลน์ ทำให้เรารู้จักช่องทางและมีตัวเลือกมากขึ้นอีกด้วย” นางขรินทร์ทิพยทิพา กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image