การรักษานิ่วในระบบปัสสาวะ

นิ่วในระบบปัสสาวะ เกิดจากสารที่ร่างกายขับออกทางปัสสาวะเกิดการจับตัวกันเป็นผลึกและรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วในเวลาต่อมา โดยเมื่อนิ่วยังมีขนาดเล็กและจำนวนน้อย จะยังไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่เมื่อนิ่วมีขนาดใหญ่มากขึ้นหรือเคลื่อนตัวมาอุดตันท่อไต จะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ และไตทำงานแย่ลง หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม จะส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในระยะยาว หรือเกิดไตวายเรื้อรัง

นิ่วในระบบปัสสาวะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งจากโรคทางพันธุกรรมบางชนิด ความผิดปกติทางกายวิภาคของระบบปัสสาวะ การดื่มน้ำไม่เพียงพอ การติดเชื้อในระบบปัสสาวะเรื้อรัง การขาดการออกกำลังกาย การมีน้ำหนักเกิน รวมถึงการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่วสูง เช่น ยอดผัก ผักโขม ถั่ว เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารรสเค็มจัด เป็นต้น

อาการของนิ่วในระบบปัสสาวะ ได้แก่ ปวดท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรง ปวดท้องร้าวไปบั้นเอวหรือขาหนีบ ปวดเบ่งปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะเป็นเลือด คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้

การวินิจฉัย ทำได้โดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางรังสีวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง หรือที่เรียกว่าการทำซีทีสแกน (CT Scan)

Advertisement
ภาพถ่าย CT Scan นิ่วในท่อไต
ภาพถ่าย CT Scan นิ่วในไต
ภาพถ่าย CT Scan และ X-ray ของนิ่วในไต
ที่มีขนาดใหญ่มากจนทำให้ไตเสื่อมการทำงาน

ในการรักษา แพทย์จะวางแผนการรักษานิ่วในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยพิจารณาจากขนาด จำนวน และตำแหน่งของนิ่ว รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากนิ่ว และโรคประจำตัวของผู้ป่วย

แนวทางการรักษามีสองลักษณะคือ การรักษาด้วยยา โดยให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ รวมถึงในบางกรณีอาจให้ยาขับนิ่วในท่อไต

การรักษาด้วยวิธีทางศัลยกรรม ได้แก่ การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy; ESWL) เป็นการใช้คลื่นกระแทกยิงผ่านผิวหนังเข้าไปที่ก้อนนิ่ว เพื่อให้แตกออกเป็นเศษเล็กๆ และหลุดออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะ นิยมใช้กับนิ่วในท่อไตหรือนิ่วในไตที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก

Advertisement
ภาพจำลองการสลายนิ่วในท่อไตด้วยคลื่นกระแทก ESWL
ภาพจำลองการสลายนิ่วในไตด้วยคลื่นกระแทก ESWL

การส่องกล้องคล้องนิ่วในท่อไต (Ureteroscopy; URS) เป็นการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปในท่อไต แล้วใช้พลังงานเลเซอร์สลายนิ่วให้แตกเป็นเศษเล็กๆ และคล้องออก วิธีนี้นิยมใช้รักษานิ่วในท่อไตส่วนปลาย

การส่องกล้องคล้องนิ่วในไตผ่านผิวหนัง (Percutaneous Nephrolithotomy; PCNL) เป็นการเจาะรูขนาดเล็กที่ผิวหนังด้านหลังทะลุผ่านเนื้อไต แล้วสอดกล้องเข้าไปในไตเพื่อสลายนิ่วและคล้องเศษนิ่วออกมา วิธีนี้ใช้รักษานิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่

การส่องกล้องคล้องนิ่วในไต (Flexible Ureterorenoscopy; FURS) เป็นการสอดกล้องขนาดเล็ก ซึ่งส่วนปลายสามารถโค้งงอได้ ผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปในท่อไตและไต เพื่อสลายนิ่วในไตด้วยพลังงานเลเซอร์แล้วคล้องเศษออกมา นิยมใช้กับนิ่วในไตหรือท่อไตส่วนต้นที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ข้อดีของการรักษาวิธีนี้คือไม่ต้องเจาะเนื้อไต ทำให้ไม่มีแผล จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ความเจ็บปวดน้อย ใช้ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่นาน และสามารถกลับไปทำงาน ใช้ชีวิตตามปกติได้รวดเร็วขึ้น

ภาพจำลองการสลายนิ่วในท่อไตผ่านกล้องโดยใช้เลเซอร์
ภาพจำลองการส่องกล้องคล้องนิ่วในไต (FURS)

ในปัจจุบัน คนไทยมีความใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น และเข้าถึงการบริการในโรงพยาบาลได้มากขึ้น จึงมักตรวจพบนิ่วในระบบปัสสาวะได้ตั้งแต่ยังมีจำนวนไม่มากและมีขนาดเล็ก รวมถึงมีความก้าวหน้าในการวินิจฉัย และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย การเลือกวิธีการรักษานิ่วในระบบปัสสาวะ จึงมีความหลากหลายให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล

โดย นพ.พิมพ์พล หงษ์ทอง
ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลไทยนครินทร์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image