สุขจัง..วิถีชุมชน

จากชีวิตที่เร่งรีบในเมือง กับชีวิตการทำงานที่แข่งขันกับเวลา ใช้เวลาบนถนนมากกว่าบนที่นอน ทำให้คนทำงานอย่างเราๆท่านๆ ต่างเหนื่อยล้า ดังนั้นเมื่อเหนื่อยก็ต้องพัก และพักแบบดีที่สุด คือ การได้เดินทางออกไปท่องเที่ยว…เพื่อนๆว่า จริงหรือไม่

หนึ่งในแนวที่เชื่อว่าเพื่อนๆ อยากไปสัมผัสโอบกอด  เป็นหนึ่งความทรงจำแห่งสุของชีวิต นั่นคือ การได้เดินทางไปพักผ่อน ในสถานที่ที่มีความเป็นธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิตแบบ Slow Life นั่งนิ่งๆ ทอดสายยาวๆ ชมวิวไกลๆ ปล่อยใจเป็นอิสระ ท่ามกลางขุนเขา วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คน

ความสุขแบบนี้ คือ การท่องเที่ยวชุมชน หรือ Local Tourism คือหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวตอบโจทย์ได้ตรงใจสุด ในปัจจุบัน Local Tourism ถือว่าฮิตมาก ไม่เฉพาะคนไทยเราเท่านั้น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศต่างให้ความนิยมและเดินทางมายังชุมชนต่างๆ ด้วยในแต่ละชุมชนต่างมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ภาษา วัฒนธรรมและประเพณี ที่เป็นโดดเด่นเป็นของตนเอง สร้างความตื่นเต้นให้ได้ทุกครั้งเมื่อเดินทางมา ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ ชุมชนชาวเล ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง รวมถึงตลาดโบราณ เป็นต้น

Local Tourism คืออีกหนึ่งรสชาติที่สามารถสร้างความสุขแบบจังๆ ให้กับทุกคน เพราะนอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานแล้ว ยังเป็นการท่องเที่ยวที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ความแปลกใหม่ตลอดเวลาการเดินทาง ได้เห็นกลไกธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนในชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้มีการพัฒนาผสมผสานความต่างระหว่างท้องถิ่น เกิดเป็นแนวคิดใหม่มาพัฒนาชุมชนแบบมีเสน่ห์ที่น่าสัมผัสแบบหาที่ไหนไม่ได้

Advertisement

ชุมชนตลาดโบราณ

สุขแบบออเจ้ากับชุมชนตลาดโบราณ เช่น ตลาดโบราณบางพลี สมุทรปราการ, ชุมชนเก่าวัดหัวตะเข้, ชุมชนตลาดทุบหม้อ จันทบุรีเป็นต้น ซึ่งชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันแต่งกายย้อนยุค ราวกับหลุดไปในฉากภาพยนตร์พีเรียดฟอร์มยักษ์สร้างประสบการณ์แปลกตาได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต และภูมิปัญญาไทยที่ในอดีต ภาชนะใส่อาหารก็เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม, เสื้อผ้าที่ใส่ ก็เป็นผ้าที่ย้อมสีจากธรรมชาติ ทำให้เห็นภาพในอดีตที่มีความเป็นอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

Advertisement

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการสืบสานที่สร้างสุข

การได้ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี กระทั่ง อาหารการกิน อาชีพ ดนตรี ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการท่องเที่ยว อาจเป็นไอเดียที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และชุมชนได้ สิ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปทำเมื่อท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมชุมชน คือการฟังการบอกเล่าของคนในท้องถิ่น ถึงเรื่องราวในสมัยก่อน

เพราะทุกเรื่องราวคือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่แสนงดงาม อย่างเมื่อครั้งที่เรายังไม่มีหม้ออบลมร้อน Air fryer ชุมชนจะอบไก่ด้วยการอบในหม้อดินแล้วสุมฟางเผารอจนกว่าไก่จะสุก หรือเมื่อสมัยโบราณ เราเดินทาง ทางน้ำด้วยการเอาต้นไม้มาขุดให้เป็นแอ่งตรงกลางเพื่อให้คนนั่ง แล้วใช้ไม้พายพายไปในทิศทางต่างๆ  เป็นต้น ทำให้เราได้รู้ถึงวิวัฒนาการของยุคสมัย ที่ควรค่าแก่การบันทึกเรื่องราวเพื่อส่งต่อแก่คนรุ่นหลัง

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรความงามแห่งวิถีคนเกษตร

ประเทศไทยของเรานั้น เป็นประเทศเกษตรกรรม ทั้งการประมง ปลูกพืช อาชีพของคนไทยมักจะข้องเกี่ยวกับกับการเกษตรอยู่เสมอ และแน่นอนว่าการเกษตรมักจะผูกพันอยู่กับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผืนน้ำ ซึ่งเกษตรกรมักจะหวงแหนในแผ่นดินพื้นที่ทำมาหากินเป็นอย่างมาก ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ทิ้งขยะ และช่วยกันดูแลให้คงความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ นำมาผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายแสนอร่อย ไม่ว่า พืชผัก ผลไม้ และอื่นๆ ที่มีคุณภาพและปลอดภัย จนได้ชื่อว่าเป็น ครัวของโลก

สุขมาก หากเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

มารู้เคล็ดลับกันสักนิดกันดีกว่า ว่าการท่องเที่ยวแบบ Responsible Tourism (RT) ทำให้มีความสุขได้อย่างไร

เริ่มตั้งแต่ก่อนเดินทาง ให้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชุมชนที่จะเดินทางไป เช่น ภาษา วัฒนธรรม เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้าไปเรียนรู้จากคนในพื้นที่ จะได้ไม่ไปลบหลู่อย่างไม่รู้ตัว

เมื่อเพื่อนๆ เดินทางไปที่ชุมชนแล้ว ช่วยกันดูแลด้านสุขอนามัยของส่วนรวม ใส่หน้ากากอนามัย ตรวจเช็คสภาพร่างกาย ต้องไม่มีไข้ ไม่มีอาการป่วยก่อนออกเดินทางสู่ชุมชน

การเคารพต่อขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและผู้คนท้องถิ่น เป็นอีกจุดที่ต้องไม่มองข้าม อย่างการแต่งกาย เน้นถึงความเหมาะสม หรือสอดคล้องกับวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น อีกทั้งเมื่อเดินท่องเที่ยวในพื้นที่ ควรชื่นชมอย่างมีระยะห่าง ไม่สัมผัส โยกย้ายสิ่งของหรือก่อให้เกิดความเสียหาย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลพิษไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของชุมชน เช่น เดินทางโดยพาหนะของท้องถิ่น ไปด้วยกันคันเดียว เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการเกิดก๊าซคาร์บอน

การสนับสนุนสินค้าพื้นเมือง เลือกซื้อของกินของฝาก จากฝีมือชาวบ้านในท้องถิ่น จะเป็นการสร้างและกระจายรายได้ให้คนในท้องถิ่น นำมาซึ่งความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และที่สำคัญ ได้ของดีของอร่อยไปฝากญาติมิตรเพื่อนฝูงอีกด้วย

ระหว่างพักและเที่ยว พูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่จะทำให้รู้จักชุมชนนั้นมากขึ้น และจะสามารถชักจูงความสนใจแก่เพื่อนๆนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ให้เดินทางมาสัมผัสความงดงามของชุมชนได้ แต่อย่าลืมว่า ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ว่าถูกต้องหรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ แต่ยังมีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว อีกมากมายที่สามารถทำได้ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแหล่งท่องเที่ยวของเรา เช่น การใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า ก็เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง คือเมื่อใช้หน้ากากอนามัยแล้วก็เก็บไปซักแล้วนำมาใช้ใหม่, ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนกระดาษทิชชู่, การดื่มน้ำจากแก้ว แทนการใช้หลอดพลาสติก เป็นต้น ไม่สร้างขยะลดโลกเลอะ

เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้เราสุขจริงสุขจังกับการท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังรอทุกคนอยู่นะ…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image