“จุรินทร์”เคาะมาตรการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งแหล่งเงินทุน สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ และการช่วยหาช่องทางการตลาด

สวส.รับลูกเดินหน้าผลักดันให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น หวังใช้เป็นกลไกพัฒนา แก้ปัญหาสังคม ลดการเหลื่อมล้ำ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เผยปัจจุบันมีวิสาหกิจเพื่อสังคมชื่อดังเพียบ ทั้ง “ดอยคำ-อภัยภูเบศร -แดรี่โฮม-เด็กพิเศษ-ประชารัฐสามัคคี-แบ่งปันให้-เรย์-สังคมดี”

นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) เปิดเผยว่า สวส. มีแผนที่จะผลักดันให้บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด และกลุ่มกิจการ ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ และมีวัตถุประสงค์การทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นหลัก ให้เข้ามาจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ต้องการผลักดันให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ เป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล

“สวส. จะผลักดันให้มีบริษัท ห้างร้าน และกลุ่มกิจการ เข้ามาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจที่ทำเพื่อสังคม จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังแต่กำไรเพียงอย่างเดียว หากผลักดันให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและผลักดันสู่ความยั่งยืน ก็จะช่วยให้สังคมได้รับการแบ่งปัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันเป็นหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย” นางนภากล่าว

นางนภากล่าวว่า สำหรับบริษัทห้างร้าน หรือกลุ่มกิจการ ที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้รับการสนับสนุนจาก สวส. ในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีนายจุรินทร์เป็นประธานได้เห็นชอบแล้ว เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม การผลักดันให้ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคาร เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเอสเอ็มอี และเชื่อมโยงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมมาช่วยค้ำประกัน เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ จากภาครัฐ เช่น สิทธิประโยชน์ตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งจะทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมมีโอกาสในการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ ได้ดีขึ้น การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการยกระดับสินค้าและบริการ การเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ในการอบรมให้ความรู้และจัดหาช่องทางการตลาดให้

ปัจจุบันมีธุรกิจที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บริษัท แดรี่โฮม จำกัด และบริษัท เด็กพิเศษ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (แห่งประเทศไทย) จำกัด บริษัท แบ่ง-ปัน-ให้ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และบริษัท สังคมดี จำกัด เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำธุรกิจโดยนำผลกำไรที่ได้มาใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อมุ่งหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว จึงสามารถใช้เป็นแบบอย่างในการทำธุรกิจสำหรับบริษัท ห้างร้าน ที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image