รู้จัก ERAS รูปแบบการรักษาปัญหากระดูกสันหลังครบวงจร

ปวดหลังมีหลายระดับ บ้างปวดมาก บ้างปวดน้อย แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งที่อาการปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีผลต่อการใช้ชีวิต อาการปวดหลังนั้นอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นหลายคนอาจจะเกิดความกังวลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

แต่ด้วยวิวัฒนาการและเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง พัฒนาขึ้นมากและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ไวขึ้น นั่นคือ ERAS หรือ Enhanced Recovery After Surgery ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนถึงหลังผ่าตัด โดยจะผ่าตัดด้วยเทคนิคพิเศษและอุปกรณ์เสริมที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อแผ่นหลังน้อย ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของการแพทย์สหสาขาในการดูแลรักษาคนไข้

นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า รูปแบบการรักษาส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด หรือ ERAS นั้น ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว ลดอาการแทรกซ้อนได้ดี ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยทีมแพทย์สหสาขาประกอบไปด้วย ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท วิสัญญีแพทย์ ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ด้านระงับปวดและพยาบาบาลที่มีความชำนาญด้านกระดูกสันหลัง ซึ่งได้รับการรองรับมาตรฐานจาก JCI (Joint Commission International) ที่ผ่านมาจากการรักษาผู้ป่วยมาแล้วกว่า 300 ราย และได้ผลลัพธ์จากการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

Advertisement

นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า รูปแบบการผ่าตัดที่ใช้ใน ERAS แพทย์ผ่าตัดจะพิจารณาการผ่าตัดแบบ MIS (Minimally Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดที่เปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กและทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคและอุปกรณ์เสริมพิเศษที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อแผ่นหลังน้อยที่สุด ต่างจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบเปิดกว้าง (Open Laminectomy) โดยวิธีนี้แม้จะสามารถขยายโพรงเส้นประสาทได้กว้าง แต่ทำให้มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ เสียเลือดมาก และมีโอกาสทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเสียความมั่นคงได้มาก ต่างจาก MIS ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ ข้อดีคือ คนไข้เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว และสามารถกลับบ้านได้เร็วเมื่อเทียบกับวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม

Advertisement

ทั้งนี้ทีมแพทย์สหสาขาจะร่วมกันทำงานภายใต้รูปแบบ ERAS ดังนี้

1.ทีมแพทย์ผ่าตัด จะพิจารณารูปแบบการผ่าตัดที่ผู้ป่วยจะปลอดภัยและฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วที่สุด ซึ่งจะพิจารณาการผ่าตัดแบบ MIS

2.ทีมวิสัญญีแพทย์ ใช้เทคนิคดมยาสลบและการให้ยาแก้ปวดตามมาตรฐานส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS Protocols) ที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบและยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนน้อยลง

3.ทีมแพทย์กายภาพบำบัด ที่จะเข้าร่วมประเมินและพูดคุยกับผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด เพื่อแนะนำและสอนวิธีเตรียมร่างกายก่อนผ่าตัด และช่วยทำกายภาพให้กับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

4.ทีมอายุรแพทย์ ตรวจวินิจฉัยและให้ยาควบคุมในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคลิ่มเลือดอุดตัน เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างปลอดภัย

5.ทีมพยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ ที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตามมาตรฐาน ERAS เคร่งครัดเรื่องการใช้ยาและควบคุมโภชนาการของผู้ป่วย ก่อนและหลังการผ่าตัด

ทั้งหมดนี้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ในการผ่าตัดที่ดีที่สุดตามมาตรฐาน ERAS (Enhanced Recovery After Surgery)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image