Covid 19 กับผลกระทบด้านแรงงานต่างด้าว

การระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลทั่วโลกต่างออกมาตรการป้องกันต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น มาตรการห้ามสถานประกอบการประกอบธุรกิจ มาตรการห้ามประชาชนเดินทางไปมาระหว่างเมือง มาตรการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ห้ามเดินทางผ่านเข้าออก ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะกลับสู่ภาวะปกติ มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบในหลายภาคธุรกิจและผู้ใช้แรงงาน ได้รับผลกระทบกันไปโดยทั่วหน้ากัน

ประเทศไทยนับแต่พบว่ามีผู้ติดเชื้อและเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริหารโควิด (ศบค.) ทำหน้าที่ดูแลและออกมาตรการต่างๆ ป้องกันและพยายามลดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดและสามารถควบคุมได้ ห้ามสถานประกอบการประกอบกิจการ ห้ามการเดินทางระหว่างเมือง ปิดพรมแดน ห้ามคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าออก มาตรการเหล่านี้ เป็นผลให้หลายผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงชั่วคราวไปโดยปริยาย ไม่มีรายได้ที่จะสามารถแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงาน รอดูสถานการณ์จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติจึงจะกลับมาเริ่มจ้างงานกันใหม่ ในจำนวนสถานประกอบการณ์ที่ปิดตัวลงจำนวนไม่น้อยเป็นสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ด้วย

แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV) ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนนับแสนคน ต้องตกงานไปโดยปริยาย ครั้นจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีใครจ้างงาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ ย่อมไม่อาจจะพำนักอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ทั้งค่าที่พักอาศัย ค่าอาหารและอื่นๆ รัฐบาลไทยก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานต่างด้าว แรงงานต่างด้าวไม่มีทางเลือกอื่น ต้องขอเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดตนเองไปก่อนเกือบทั้งหมด ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส

การอพยพกลับกลับประเทศของแรงงานต่างด้าว ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ที่ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างมาก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดยุติลงและจะกลับมาเปิดดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการใช้แรงงานใหม่ ฝึกฝนแรงงานต่างด้าวใหม่ เริ่มต้นจากศูนย์ใหม่ ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไปไม่น้อย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้เกือบเต็มรูปแบบแล้ว หลายผู้ประกอบการที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ต่างเริ่มกระบวนการนำเข้าแรงงานและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 1-2 ปี กว่าจะดำเนินธุรกิจได้เต็มที่ ในทางกลับกัน คงต้องยินดีกับผู้ประกอบการที่มองเห็นว่า แรงงานต่างด้าวเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ยอมแบกรับภาระค่าแรงงานคนต่างด้าว โดยไม่มีการเลิกจ้างในช่วงแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาแม้จะหยุดดำเนินกิจการอยู่หลายเดือนก็ตาม สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้เลยทันที ลดต้นทุนการรับสมัครแรงงานใหม่ ลดต้นทุนการฝึกอบรมใหม่ ลดเวลาและลดการเสียโอกาสทางธุรกิจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image