ทานเจอย่างไรให้ปลอดภัย ได้สารอาหารครบ

ปกติแล้วในทุกๆ ปี เมื่อถึงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงเวลาของการทานเจ ที่ประชาชนผู้นิยมถือศีลกินผักได้ยึดถือสืบปฏิบัติมาแต่อดีต โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วัน ในการงดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ อีกด้วย

“เทศกาลกินเจ ปี 2563 นี้ ถือเป็นเทศกาลถือศีล ซึ่งมีมาตั้งแต่บรรพกาล ที่ชาวจีนถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงอยากแนะนำ ประชาชนได้รับประทานอาหารเจอิ่มบุญ ได้สุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ควรหลีกเลี่ยงอาหารเจที่ปรุงด้วยการผัดหรือทอด เนื่องจากเป็นเมนูที่ใช้น้ำมันมาก เป็นสาเหตุทำให้ร่างกายสะสมไขมัน ความใช้น้ำมันมะกอกแทนน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชหรือการผัดด้วยน้ำแทน ส่วนพืชผักที่นำมาประกอบอาหาร ควรซื้อผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีรับประทาน แต่หากเลือกไม่ได้
แนะนำว่าก่อนนำผักมาประกอบอาหารควรล้างผักด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ผักในน้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5% นำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 ส่วน แช่ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกรอบหนึ่ง จะช่วยลดสารพิษจากยาฆ่าแมลงได้ประมาณ 60 %

ทั้งนี้ อาหารเจ และเมนูจากพืชผักก็มีประโยชน์ไม่แพ้เนื้อสัตว์มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่เน้นการปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง ยำ และอบ แต่หากจะทานอาหารเจประเภทของทอด ต้องพิจารณาความสะอาดของน้ำมันที่คนขายใช้ ต้องไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งจะมีสารที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งต่อร่างกายได้ และไม่ควรทานควบคู่กับผัดผักหรืออาหารที่ใช้ปริมาณน้ำมันเป็นส่วนประกอบสูงเช่นกัน ส่วนอาหารดองเค็ม เช่น ผักกาดดอง หัวไชเท้าดอง ผักดองบางชนิดที่จะนำมาทำประกอบอาหารเป็นเมนูแกงหรือผัด ควรนำมาล้างหรือแช่น้ำเพื่อลดความเค็ม เพราะอาหารที่เค็มจะมีโซเดียมสูง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคไตได้ และเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูงตามมา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางไต โรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงอยู่เดิม อาจทำให้เกิดหัวใจวาย บวมน้ำได้ ทั้งนี้การกินเจอาจทำให้รู้สึกหิวบ่อย ควรรับประทานผลไม้แทนขนมหวาน ดื่มน้ำเต้าหู้แทนน้ำอัดลม หรือรับประทานถั่วเป็นของว่างก็ได้” นพ.ภาคภูมิ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ หากประชาชนมีความกังวล ว่าผู้ประกอบธุรกิจบางรายจะฉวยโอกาสในการนำเนื้อสัตว์ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเจ ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาเลือกซื้อวัตถุดิบหรืออาหารเจจากร้านที่เชื่อถือได้ รวมถึงอ่านฉลากสินค้าเพื่อให้ทราบข้อมูลของวัตถุดิบเหล่านั้นว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง สัดส่วนอยู่ในปริมาณเท่าไหร่ ผู้ผลิตคือใคร วันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้

นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image