Agri BIZ Idol Development Project เวทีค้นหา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศความสำเร็จ “โครงการพัฒนา Smart Farmer
ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ The Idol Development Project)” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดการอบรมในลักษณะนี้ พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรและโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ผ่านการอบรม จำนวน 78 คน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า “สำหรับโครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบเพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ หรือ Agri BIZ Idol Development Project รับสมัครจากเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรต้นแบบ วิสาหกิจชุมชน ผู้จัดการแปลงใหญ่ ผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพ ที่มีความต้องการจะพัฒนาสินค้าเกษตรของตนเองและของกลุ่ม จากทั่วประเทศ โดยคัดเลือกจากผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 137 คน เหลือ จำนวน 80 คน และผ่านการอบรม 78 คน แบ่ง ออกเป็น 5 กลุ่มผู้ประกอบการเกษตร ได้แก่ กลุ่มเกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่า, เกษตรท่องเที่ยว, วิสาหกิจชุมชน และบริการการเกษตร, เกษตรวิถีอินทรีย์ และกลุ่มเกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรม

โดยมีทีมวิทยากรชั้นนำ Coach Agri – biz เช่น คุณกุลพล คุปรัตน์, ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ เป็นต้น และ มีเมนเทอร์พี่เลี้ยงมากประสบการณ์แต่ละด้านธุรกิจเกษตรกร ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการเกษตร คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรได้พัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ เน้นการจัดทำแผนธุรกิจเกษตรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรของตัวเองที่มีอยู่ หรือเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการกิจการ และการตลาดสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสม

นายเข้มแข็งระบุว่า “การขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการนี้มองว่าต้องการพัฒนากลุ่มต้นแบบ และนักพัฒนา เพื่อต่อยอดเกษตรกรไทยให้ก้าวทันยุคสมัย มีการต่อยอดขององค์ความรู้จากวิถีเดิม ทั้งนี้ได้จับมือร่วมกับทุกภาคส่วน และนักวิชาการหลายๆ องค์กร ร่วมผลักดันให้เกษตรกรไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น และก้าวทันวิถีเกษตรยุคใหม่ สำหรับตัวคนต้นแบบทั้ง 78 ท่านนี้ อยากจะเห็นผลิตภัณฑ์ของเขาก้าวไปสู่ระดับโลก ไม่เฉพาะเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น โดยจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการตลาด อยากให้ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย โดยกลุ่มคนที่ผ่านการอบรม และผ่านการขับเคี่ยวจาก Agri – Biz The Idol 2020 อยากเห็นความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ที่จะเป็นต้นแบบเกษตรชั้นนำรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต

Advertisement

นายสำเริง เชยชื่นจิตร ประธานกลุ่ม G4 เกษตรท่องเที่ยว 2 และกลุ่มกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กและท่องเที่ยวชุมชน จากจังหวัดพิจิตร หนึ่งในผู้ผ่านการอบรมโครงการ กล่าวว่า ได้เริ่มทำการเกษตรเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรามีการทำนา ปลูกผัก พาลูกๆ ไปทำนา ทำแบบเรียน คือกิจกรรมการเรียนรู้ สำหรับเด็ก และลูกๆ ได้นำเรื่องราวไปบอกต่อให้เพื่อนๆ ในห้องฟัง คุณครูเลยพาเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมในพื้นที่นาของเรา มีการดำนา เกี่ยวข้าว จัดแคมป์รอบกองไฟ พอ 2-3 ปีหลัง มีระเบียบการหลากหลายขึ้น มีการวาดรูป งาน Craft ผ้ามัดย้อม สบู่ มีงานเกี่ยวกับเรื่องข้าว ตั้งแต่ ดำนา เกี่ยวข้าว ตีข้าว เผาข้าวหลาม เมื่อทำเยอะมากขึ้นจึงมีการเชื่อมกับชุมชน สวนผลไม้ สวนผัก บ้านเก่า วัด และป่าชุมชน โดยให้พระเข้ามามีส่วนร่วม เด็กๆ ในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นไกด์นำเที่ยว ชาวบ้านในหมู่บ้าน เอาขนมพื้นบ้าน ผลไม้ นำเข้ามาร่วมขายเวลามีงาน

นายสำเริง กล่าวอีกว่า สำหรับคนที่มีต้นทุนก็อาจจะไม่ยาก แต่บางพื้นที่ไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีสิ่งดึงดูดก็จะยาก จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดเล็กๆ ไม่มีภูเขา ทะเล แต่สิ่งที่เราใช้ดึงดูดคน คือ ความคิดสร้างสรรค์ สร้างกิจกรรมขึ้นมา ดึงคนด้วยการเกษตร ศิลปะเชื่อมไปยังการเรียนรู้ของเด็กๆ เชื่อมไปยังการศึกษากับโรงเรียน คุณครูนำนักเรียนมาร่วมกิจกรรม เมื่อชาวบ้านมองเห็นว่ามีคนมา ร่วมงานมากขึ้น ชาวบ้านก็เข้ามามีส่วนร่วม เราก็สามารถจัดทำกิจกรรมที่หลากหลายและเชื่อม ไปยังชุมชนได้กว้างขึ้น

Advertisement

“สำหรับเกษตรกรท่านที่ทำนา ทำไร่ ทำสวน ทำฟาร์ม เราไม่สามารถทำการเกษตรแบบเดียวได้ ต้องปรับพื้นที่ภูมิทัศน์ให้ดูดีขึ้น หรือ ถ้าคุณมีต้นทุนในสวน เช่น ติดคลอง ภูเขา มันก็จะมีต้นทุน เพิ่มขึ้นก็สามารถปรับเป็นร้าน คาเฟ่เล็กๆ แทรกเข้าไปทำเป็นท็อปมีเรื่องราวการสื่อสาร คุณต้องเป็น นักสื่อสารนำเรื่องราวนั้นมาบอกเล่า เกษตรมีเรื่องราวมากมาย เช่น การเพาะปลูก การผลิต การเลี้ยงสัตว์ มันมีเรื่องราวอยู่ในนั้น แต่สิ่งสำคัญคุณต้องฝึกเป็นนักเล่าเรื่องราวและนักสื่อสาร เพราะสองสิ่งนี้จะบอกให้โลกรู้ โดยการเข้ารับการอบรมครั้งนี้ ก็ได้พัฒนาทักษะด้านนี้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไปได้เป็นอย่างดี

นายสิทธิศักดิ์ อัครไพศาล ประธานกลุ่ม G8 เกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรมกล่าวว่าการทำเกษตรผสมผสาน หลักๆ คือ แบ่งพื้นที่ สามารถสร้างรายได้เข้ามาหลายทางจากผักสลัด มัลเบอร์รี่ มะนาว และมีร้านอาหาร แบ่งโซนพื้นที่ตาม “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือจะต้องมีรายได้เข้าร้านเพื่อปรับใช้ให้อยู่ได้ในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อยู่ในไร่ที่ผลิตเอง นำไปแปรรูปและนำมาขายที่ร้าน หน้าร้านชื่อว่า อัจฉราคาเฟ่ และไร่อัจฉรา Smart Farm จังหวัดลพบุรี

“โดยส่วนตัวรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็น 1 ใน 80 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรม และเป็น 1 ใน 78 คน ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้ ซึ่งรู้สึกว่ายากตั้งแต่กรอกใบสมัคร งานนี้ใช้เวลาในการกรอกใบสมัครนานที่สุด นอกจากกรอกใบสมัครแล้วยังต้องคิดและวิเคราะห์อะไรหลายๆ อย่าง พอเข้ามาเจอเพื่อนๆ ก็รู้สึกภูมิใจที่เป็นหนึ่งในกลุ่มของคนเหล่านี้ เพราะคนเหล่านี้คือผู้นำของชุมชนในแต่ละชุมชน ที่มีความคิดและแนวคิด ในสิ่งที่บางครั้งเรามองไม่ทันเขา พอได้มาพบกับอาจารย์รู้สึกประทับใจในอาจารย์ทุกท่าน อาจารย์ที่มาสอนคือให้แนวทางในสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของตัวอาจารย์เอง รู้สึกว่านี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ รู้สึกภูมิใจที่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้ และโครงการนี้ได้ให้มุมมองที่เรามองข้ามไป รับรู้มุมมองที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังให้แนวทางในการบริหารธุรกิจ แนวทางในการนำไปต่อยอดเพื่อขยายธุรกิจของเราได้ รวมถึงให้เครือข่าย ให้ Connection ในอนาคต สามารถดึงกลุ่มคนเหล่านี้มาทำโปรเจคร่วมกันได้ ต่อยอดเป็นธุรกิจที่มีกำลังมากขึ้นอีกด้วย” นายสิทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image