ทำไมนิยายชายรักชายถึงได้รับความนิยมมากกว่านิยายหญิงรักหญิง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “นิยายวาย” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มีกลุ่มผู้อ่านที่เหนียวแน่นและสามารถครอบครองพื้นที่ในร้านหนังสือกระแสหลักได้อย่างเต็มภาคภูมิ หลังจากที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ใต้เงามืดมาเป็นเวลานาน เนื่องจากทัศนคติเรื่องเพศของสังคมไทย จุดเด่นของนิยายวาย คือ ตัวละครหลักที่มีเพศสภาพเดียวกัน แต่มีความสัมพันธ์และการดำเนินเรื่องเฉกเช่นเดียวกับนิยายชายหญิงทั่วไป โดยนิยายวายสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ยาโออิ (Yaoi) หรือนิยายชายรักชาย และยูริ (Yuri) หรือนิยายหญิงรักหญิง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้อ่านที่ติดตามอ่ายนิยายวายทั้ง 2 ประเภทนี้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผู้อ่านส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง ติดตามนิยายวายแบบยาโออิ และนิยามตัวเองว่าเป็น “สาววาย” โดยมีสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มผู้อ่านนิยายยูริอย่างเห็นได้ชัด จึงน่าสนใจว่าปรากฏการณ์สาววายนี้มีความเชื่อมโยงกับลักษณะสังคมของเราหรือไม่ แล้วนิยายวายเป็นนิยายสำหรับทุกเพศทุกวัยจริงหรือ

“สาววาย” ประชากรส่วนใหญ่ในแวดวงวาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานผู้อ่านนิยายวายเป็นกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เหตุผลส่วนหนึ่งก็ชัดเจนว่า นิยายวายส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้หญิง หรือเป็นงานที่เขียนเพื่อให้ผู้หญิงอ่าน ซึ่งมักต่อยอดมาจากการจับคู่ดารา-ศิลปินบอยแบนด์ทั้งในและต่างประเทศ และผู้อ่านก็มักจะเป็นกลุ่มแฟนคลับของดารา-ศิลปินเหล่านี้ ก่อนที่แฟนคลับบางส่วนจะผันตัวมาเป็นนักเขียนผู้รังสรรค์นิยายวายที่มี “คู่จิ้น” ของตัวเองเป็นตัวละครหลัก ทั้งนี้ สำหรับนิยายวายแบบยาโออิ จะมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกบทบาทของตัวละครในเรื่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น เมะ (เสะเมะ) แปลว่าบุก หรือตัวละครที่เป็นฝ่ายรุกในความสัมพันธ์ ในขณะที่คำว่าเคะ (อุเคะ) ที่แปลว่ารับ สื่อถึงตัวละครที่เป็นฝ่ายรับ ยิ่งไปกว่านั้น การบรรยายลักษณะตัวละครของนิยายวาย ก็ไม่ใช่เน้นไปทางผู้ชายกล้ามโตและมีความเป็นชายมาก แต่ตัวละครกลับมีความคล้ายคลึงผู้หญิง ที่อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านงานวรรณกรรมประเภทนี้เป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่

ไม่เพียงแค่ลักษณะของตัวละครหลักที่ดึงดูดใจผู้อ่านหญิงเท่านั้น แต่ในสังคมที่มีลักษณะแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchal society) หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชายและหญิงในสังคมที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลให้นิยายที่มีตัวละครเอกเป็นชายหญิง แสดงออกภาพของตัวละครหญิงที่ถูกกดทับ หรือเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม อันเป็นความทุกข์ของผู้หญิงในสังคม ซึ่งความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ไม่ค่อยพบในนิยายวายที่ตัวละครเป็นผู้ชายทั้งคู่ และมักจะมีความเท่าเทียมในความสัมพันธ์มากกว่า ในขณะที่ลักษณะนิสัยหรือการแสดงออกของตัวละครก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น หรือพระเอกของเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ค่านิยมการที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศถูกผลิตซ้ำอยู่ในสื่อกระแสหลักอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในนิยาย ละคร หรือภาพยนตร์ ยิ่งตอกย้ำการถูกกดทับของผู้หญิง ทั้งยังตีกรอบภาพ “ความเป็นหญิง” ที่สังคมได้ทำการตัดสินเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเป็นสิ่งที่ “ดี” หรือ “ไม่ดี” นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้หญิงจึงอ่านนิยายวายมากกว่าผู้ชาย และนิยายวายอาจจะเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่นั่นเอง

ใครๆ ก็อ่านนิยายวายได้

แม้นิยายวายแบบชายรักชายจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีฐานผู้อ่านซึ่งเป็นผู้หญิงที่หนาแน่น แต่นิยายวายแบบหญิงรักหญิงก็ได้รับความนิยมเช่นกัน และแน่นอนว่ามีผู้อ่านผู้ชายที่เป็นแฟนคลับงานวรรณกรรมประเภทนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทว่า ความชื่นชอบในเนื้อเรื่องและตัวละครในนิยายวาย ไม่สามารถเหมารวมไปถึงรสนิยมของผู้อ่านได้

ภาพลักษณ์ของนิยายวายในสายตาของคนทั่วไปอาจจะมีเนื้อหาเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง แต่ความเข้าใจเช่นนั้นก็อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะนิยายวายก็ทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตของตัวละคร ไม่ได้แตกต่างไปจากงานวรรณกรรมที่มีตัวเอกเป็นหญิงชายเลย เช่นเดียวกับนักเขียนที่ให้เวลาและความสำคัญกับนิยายวายเหมือนกับนักเขียนงานประเภทอื่น ๆ อีกทั้งนิยายวายก็ยังสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคนในหลากหลายแวดวงวิชาชีพ พร้อมกับสะท้อนปัญหาของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญผ่านนิยายวาย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ฟังค์ชันหนึ่งของนิยายวายก็คือ การสะท้อนสังคมและช่วยสร้างความเช้าใจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้นิยายวายแบบหญิงรักหญิงจะยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง เมื่อเทียบกับนิยายวายแบบชายรักชาย แต่ในสังคมที่กำลังเปิดพื้นที่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ การอ่านนิยายวายที่ตัวละครเอกมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างหลากหลายก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างความเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่สิ่งแรกที่สังคมควรเร่งสร้างความเข้าใจ คือเลิกตีตรางานวรรณกรรมประเภทวายว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะสม เพราะในสังคมที่ระดับของอำนาจถูกแบ่งออกตามเพศ การอ่านนิยายวายอาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะลดระดับอำนาจเหล่านั้น เพื่อสร้างสังคมที่คนทุกเพศสภาพสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุขอย่างแท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image