‘สทน.’ ลงนามความร่วมมือกับ ‘TNDT’ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรมไทยสู่สากล

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 14.30 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อํานวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมลงนามความร่วมมือการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ระหว่าง สทน. กับ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จํากัด (มหาชน) หรือ TNDT โดยมีนางสาวชมเดือน ศตวุฒิ กรรมการผู้จัดการ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (บางเขน)

ด้วยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันชั้นนําในการวิจัยที่ใช้นิวเคลียร์แก้ไขปัญหาของประเทศ ในส่วนบริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) มารกกิจในการดําเนินธุรกิจบริการทดสอบ ตรวจสอบ และรับรองผลด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรม ด้วยกระบวนการทางเทคนิคไม่ทําลาย (Non-destructive Testing – NDT) โดยเป็นธุรกิจเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ

Advertisement

ความร่วมมือการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ การให้บริการเรื่องเทคโนโลยีด้านรังสี เชน วิเคราะห์ธาตุในน้ำ ดิน อากาศ ตรวจวัดปริมาณรังสีในวัตถุ ทดสอบและตรวจสอบโครงสร้างภายในโรงกลั่น โรงแยก โรงปิโตรเคมีคอล ปรับเทียบเครื่องมือวัตถุทางรังสีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อบรมและพัฒนาบุคลากรทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ทำการตลาด ขยายงานขายหรืองานบริการทั้งส่วนงานของ สทน. และ TNDT พัฒนาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการจาก TNDT และสทน. แลกเปลี่ยนข้อมูลของต่างประเทศระหว่างกัน ร่วมกันว่างแผนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สร้างทีมงานเพื่อดำเนินโครงการขยายตลาดต่างประเทศ โดยมอบหมายอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ระดับปฏิบัติการและความปลอดภัยทางรังสีด้านการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ด้านสุขอนามัย รวมถึงการถนอมอาหาร เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล ด้านการบำบัดน้ำเสียและกากตะกอนด้วยรังสี เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีนี้จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก โดยเฉพาะการลดกลิ่นและสีของน้ำ และสามารถฆ่าเชื้อกากตะกอนจากน้ำเสียเพื่อนำกากตะกอนใช้เป็นปุ๋ยต่อไป และเพื่อสนับสนุน ให้ความรู้ด้านนรังสีให้เป็นที่เข้าใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป อีกทั้งเป็นการสร้างแนวร่วมที่จะสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีด้านรังสีไปใช้ในทางสันติ

Advertisement

รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อํานวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ความร่วมมือการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านวิชาการและการพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือในการจัดทําเอกสารระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการร่วมกัน พัฒนาด้านบุคลากรและขยายเครือข่ายให้แพร่หลาย ประชาสัมพันธ์ผลงานของทั้งสองฝ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จัดให้มีการหารือร่วมกันในวาระต่างๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อให้ความร่วมมือบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด สนับสนุนบุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย ของทั้งสองฝ่ายให้สามารถนําความรู้ ความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านงานวิจัยที่นําไปใช้ได้จริงกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”

นางสาวชมเดือน ศตวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดเวลาของการดําเนินธุรกิจที่ผ่านมา ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องกําเนิดรังสี วัสดุกัมมันตภาพรังสี อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกือบจะทั้งหมดต้องพึ่งพาจากต่างประเทศและใช้งบประมาณในแต่ละปีค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายได้ แม้ว่าบริษัทฯ ได้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใช้ได้บ้างแต่ก็ไม่เป็นนัยสําคัญ ด้วยขาดความพร้อมหลายประการ ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ด้านบุคลากร การยอมรับทางสังคม ทําให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเสียโอกาสเชิงธุรกิจและการยกระดับการให้บริการของประเทศ ทั้งๆ ที่ธุรกิจบริการนี้ยังมีความต้องการในวงการสูงมาก ซึ่งบริษัทฯ ตระหนักแล้วว่าในส่วนที่เป็นจุดอ่อนของบริษัทฯ นั้น หาก สทน. เข้ามาช่วยส่งเสริมและให้การสนับสนุน จะทําให้บริษัทฯ สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น”

จากวัตถุประสงค์การจัดตั้งและเป้าหมายของทั้ง 2 องค์กร เมื่อผสานความร่วมมือจะทำให้การทำงานแบบบูรณาการในด้านการพัฒนาการใช้งานทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ การสร้างนวัตกรรม และการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุที่เกี่ยวกับรังสี รวมถึงเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนสำหรับประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image